xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์เร่งปรับปรุงศูนย์ข้อมูล-พิพิธภัณฑ์-เปิดอุทยานฯ สด๊กก๊อกธม กรอบงบปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร (ภาพจากแฟ้ม)
กรมศิลปากร เดินเครื่องงานปี 65 จัดทำงบประมาณตามแผนงานของรัฐบาล โชว์ศักยภาพแหล่งเรียนรู้ใหม่หลังพัฒนา เน้นเผยแพร่องค์ความรู้เชื่อมต่อคนทุกวัยผ่านโซเชียล


วันนี้ (26 ม.ค.) นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบาย และแนวทางการจัดทำงบประมาณไปแล้วนั้น โดยในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรี วธ.ได้จัดประชุมหน่วยงานในสังกัด โดยได้เน้นย้ำถึงจัดทำแนวทางการจัดทำงบประมาณตามแผนงานของรัฐบาล 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก 2. การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 3. การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และ 4. การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ ซึ่งในส่วนของกรมศิลปากร ได้มีการจัดทำแผนงานโครงการและกิจกรรมโดยจัดลำดับความสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วนใน 4 ด้านงานอนุรักษมรดกชาติ ได้แก่ ด้านนาฏดุริยางคศิลป์ โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ ด้านภาษา เอกสาร และหนังสือและด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม

นายประทีป กล่าวว่า สำหรับโครงการที่จะดำเนินการได้ย้ำให้แต่ละสำนักปรับแผนงานสอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 พร้อมกับปรับปรุงฐานข้อมูลโดยเฉพาะและระบบการสืบค้นเกี่ยวกับองค์ความรู้แขนงต่างๆ ให้เป็นปัจจุบัน และแยกย่อยข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ เรียกว่าโครงการแบ่งปันความรู้ ซึ่งการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก

ขณะที่การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ได้มีการปรับปรุงต่อเนื่อง คาดว่า จะมีการเปิดตัวหลายแห่ง เช่น ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี พิพิธภัณธสถานแห่วชาติบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี พิพิธภัณฑ์เครื่องทองอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง จ.ภูเก็ต รวมถึงการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จ.สระแก้วและศูนย์ข้อมูลซึ่งการเปิดตัวแต่ละแห่งให้สำนักศิลปากรพื้นที่ประสานงานกับจังหวัดและภาคส่วนต่างๆ ได้เห็นความสำคัญดึงดูดคนในพื้นที่เข้ามาเยี่ยมชม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้นอกสถานที่ได้

“ในส่วนของงานบูรณะโบราณสถานต่างๆ ยังคงดำเนินการต่อเนื่อง แต่พยายามจะไม่ให้มีการเปิดหน้างานใหม่ยกเว้นงานบูรณะที่สำคัญ โดยให้ดูแลผู้ปฏิบัติงานตามมาตราการสาธารณสุข ขณะที่การติดตามงานต่างๆ สามารถปรับรูปแบบโดยใช้เทคโนโลยีและออนไลน์เข้ามาช่วยเพื่อลดข้อจำกัดลงจากการไม่สามารถเดินทางไปลงพื้นที่ได้เองขณะที่การเปิดแหล่งเรียนรู้ยังสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ แต่กำชับให้เข้มงวดเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด” อธิบดีกรมศิลป์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น