เชียงใหม่ - สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่เผยผลขุดค้นโครงการพัฒนา “ข่วงหลวงเวียงแก้ว” บนพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) พบหลักฐานสำคัญเชิงประจักษ์เป็นแนวกำแพงยืนยันที่ตั้งพระราชวังกษัตริย์ล้านนาตั้งแต่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ แถมเจอโบราณวัตถุจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน บ่งชี้การใช้งานพื้นที่ต่อเนื่องหลายร้อยปี
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่บริเวณทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 (เชียงใหม่) พร้อมด้วยนายไพศาล สุรธรรมวิทย์ เลขานุการนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และเครือข่ายภาคประชาชน ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว ในส่วนของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ที่รับผิดชอบการดำเนินงานทางโบราณคดีในพื้นที่เวียงแก้ว หรือทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ที่มีการดำเนินงาน 4 กระบวนการ ได้แก่ การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์, การขุดค้นทางโบราณคดี (ขุดศึกษาอายุสมัยของพื้นที่), การขุดลอกชั้นดินทับถมทางโบราณคดี (ขุดลอกดินที่ทับถมโบราณสถานออก) และการบูรณะแนวกำแพงเวียงแก้วและโบราณสถานศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ตั้งแต่ปี 2559 จนกระทั่งปัจจุบันใกล้จะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ มีการค้นพบที่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวกำแพงเวียงแก้ว ที่เป็นหลักฐานยืนยันพื้นที่ตั้งพระราชวังของพญามังราย ตั้งแต่ที่เริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่ ตามที่มีปรากฏในแผนที่โบราณและเอกสารตำนานเมืองเชียงใหม่ที่กล่าวถึงพื้นที่ตั้งวังของพญามังรายในเชิงการเปรียบเทียบว่า พระองค์ทรงตั้งวังไว้ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่ที่เป็นวัดเชียงมั่นในปัจจุบัน
นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 (เชียงใหม่) เปิดเผยว่า ขณะนี้การดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในส่วนที่กรมศิลปากรรับผิดชอบเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยจากนี้จะเป็นขั้นตอนในการจัดทำแบบแผนผังจุดที่พบโบราณสถานในพื้นที่ เพื่อส่งให้กับผู้ที่ชนะการประกวดออกแบบก่อสร้างโครงการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้ว เพื่อปรับแบบให้การก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตามแบบสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี โดยไม่กระทบต่อโบราณสถานที่ขุดค้นพบ
เมื่องทางผู้ชนะการประกวดออกแบบทำการปรับแบบแล้ว จะส่งกลับมาให้กรมศิลปากรพิจารณา หากเหมาะสมจะอนุญาตให้นำแบบไปใช้ดำเนินการก่อสร้างได้ต่อไป โดยการจัดทำแบบแผนผังจุดที่พบโบราณสถานในพื้นที่น่าจะเสร็จช่วงต้น ก.พ. 64 และส่งให้ผู้ชนะการประกวดออกแบบ คาดว่าน่าจะใช้เวลาในการปรับแบบประมาณ 1 เดือน
สำหรับหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ขุดค้นพบนั้น นายสายกลางระบุว่า คือ การขุดค้นพบแนวกำแพงเวียงแก้วที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งแนวกำแพงด้านใต้ และแนวกำแพงด้านเหนือ ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ที่ตั้งและการมีอยู่จริงของพระราชวังล้านนา จากเดิมที่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากข้อมูลแผนที่โบราณเมืองเชียงใหม่และเอกสารตำนานที่กล่าวถึงในเชิงพื้นที่ตั้งวังของพญามังรายเท่านั้น
ขณะเดียวกันยังมีการขุดค้นพบฐานรากของโบราณสถานต่างๆ ในพื้นที่ด้วย เพียงแต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าคืออะไร ส่วนศาลเจ้าพ่อข้อมือเหล็กนั้น จากการสืบค้นข้อมูลหลักฐานต่างๆ เชื่อว่าเป็นหอพระของวัง หรือที่เรียกว่า “หอพระนางไหว้” ซึ่งมีหลักฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยพญาเมกุฎิสุทธิวงศ์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของล้านนาที่ครองเมืองอยู่ช่วง พ.ศ. 2094-2101 ก่อนที่จะถูกพม่ายึดครองเชียงใหม่ โดยตามเอกสารระบุว่า พระอัครเทวีของพญาเมกุฎิสุทธิวงศ์ จะไหว้พระที่หอพระเป็นประจำทุกวันตอนเย็น จึงเรียกหอพระนี้ว่า “หอพระนางไหว้”
นอกจากนี้ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 7 (เชียงใหม่) บอกด้วยว่า นอกจากนี้จากการขุดค้นในพื้นที่ยังพบโบราณวัตถุที่สำคัญเป็นเครื่องถ้วยจากทุกแหล่งเตาของล้านนา รวมทั้งเครื่องถ้วยจากสุโขทัย ตลอดจนเครื่องถ้วยจากต่างประเทศ ทั้งเวียดนามและญี่ปุ่น โดยเฉพาะเครื่องถ้วยจากจีน ที่สามารถบ่งบองลำดับการใช้งานของพื้นที่มาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครื่องถ้วยจีนที่มีการขุดค้นพบนั้น เป็นเครื่องถ้วยจีนตั้งแต่ราชวงศ์หยวน ที่มีอายุในช่วง พ.ศ. 1823 เป็นต้นมา ตลอดจนเครื่องถ้วยจีนอื่นๆ ที่แสดงถึงการใช้งานพื้นที่ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 1900 ต่อเนื่องช่วง พ.ศ. 2000, ช่วง พ.ศ. 2100 จนถึงช่วง พ.ศ. 2400 ซึ่งเป็นหลักฐานที่บ่งบอกยืนยันว่าพื้นที่เวียงแก้วมีการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด
รายงานข่าวแจ้งว่า แนวกำแพงเวียงแก้วนั้นถูกขุดค้นพบอยู่ใต้ชั้นดินลึกลงไปประมาณ 1 เมตร วางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก ยาวประมาณ 150 เมตร ก่อด้วยอิฐประมาณ5-8 ชั้น กว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตร โดยก่อนหน้าที่จะมีการขุดค้นนั้น ได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ดำเนินงานได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า GPR (Ground Penetrating Radar) หรือเครื่องเรดาร์ทะลุพื้นดิน ทำการเดินสำรวจทั้งแนวยาวและแนวขวางบนพื้นดินทั่วพื้นที่ 5,300 ตารางเมตร ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 59
จากการวิเคราะห์และจัดทำเป็นแบบจำลองภาพสามมิติพบว่า ในชั้นใต้ดินของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) มีวัตถุกระจายเต็มอยู่ทั่วพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ด้วยเป้าหมายที่ต้องการค้นหาแนวกำแพงเวียงแก้วเป็นสำคัญ จึงมุ่งเป้าไปที่การตรวจหาวัตถุที่มีขนาดใหญ่เป็นหลัก โดยจากผลการสแกนชั้นดินพบว่ามีหลายจุดที่ว่ามีวัตถุขนาดใหญ่และมีแนวต่อเนื่องกันอยู่ เช่น บริเวณประตูทางเข้าของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม), บริเวณศาลพระภูมิด้านใน, บริเวณที่ตั้งองค์พระพุทธรูปทางมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือบริเวณบ้านพักทางด้านทิศตะวันออก เป็นต้น
ทั้งนี้ หลังจากที่ทำการเก็บหลักฐานและจัดทำแบบแผนผังจุดที่พบโบราณสถานในพื้นที่แล้ว ทางกรมศิลปากรจะดำเนินการใช้วัสดุพิเศษคลุมตลอดทั้งแนวกำแพงเวียงแก้ว ก่อนที่ทับด้วยทรายและกลบด้วยดิน เพื่อรักษาสภาพโบราณสถานให้ยังคงสมบูรณ์ที่สุด โดยหากจะมีการเปิดพื้นที่ในอนาคตจะยังคงมีสภาพสมบูรณ์