“นนทบุรี” จังหวัดเล็ก ๆ ใกล้เมืองกรุงฯ ที่หลายคนอาจมองข้าม แต่ที่นี่มีที่เที่ยวที่ซุกซ่อนอยู่มากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือวัดวาอารามเก่าแก่อายุนับร้อยปี ครั้งนี้จึงได้รวบรวม 5 วัดเก่าสมัยอยุธยาในนนทบุรี ที่มียังคงความงดงามมาให้ชมกัน
วัดปราสาท
“วัดปราสาท” ตั้งอยู่ที่ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ต.บางกร่าง อ.เมือง วัดแห่งนี้ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติสันนิษฐานกันว่า "วัดปราสาท" สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยสังเกตได้จากอุโบสถแบบมหาอุด คือ ผนังด้านข้างทั้งสองไม่มีหน้าต่างด้านหน้ามีประตูทรงปราสาทประดับลวดลายปูนปั้น ด้านหลังมีเพียงช่องแสงเล็ก ๆ ส่วนภาพจิตรกรรมของอุโบสถเขียนด้วยสีฝุ่นเรื่องทศชาติ หลังคาด้านหน้าเชิดขึ้นเล็กน้อย ฐานเป็นเส้นโค้งแบบเดียวกับหลังคาหน้าบันจำหลักสวยงาม พระประธานและพระพุทธรูปจัดเป็นหมู่รอบองค์พระประธานดูจากฐานชุกชีเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา
ส่วนพระประธานเป็นศิลปะอู่ทองจึงไม่ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกันในสมัยอยุธยาเช่นเดียวกับวัด โบสถ์แห่งนี้ยังมีสภาพที่สมบูรณ์และงดงาม นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปลายตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.
วัดปรางค์หลวง
"วัดปรางค์หลวง" เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดนนทบุรี มีอายุกว่า 650 ปี ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี สร้างในสมัยของพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ประมาณปีพ.ศ.1890
เดิมวัดแห่งนี้ชื่อ “วัดหลวง” บางหลักฐานกล่าวว่า สร้างเมื่อปีพ.ศ.1904 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้อพยพผู้คนหนีโรคระบาดมาประทับอยู่ที่บริเวณนี้ ก่อนที่จะทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นชื่อว่า “วัดหลวง”
ภายในวัดปรางค์หลวง มีโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญมากมาย แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดอยู่ที่ “องค์พระปรางค์” เป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานเป็นอิฐ ส่วนที่เป็นเรือนธาตุทั้งสี่ด้าน แต่ละด้านมีพระปูนปั้นนูนสูง และมีพระวิหารน้อย เป็นอาคารขนาดเล็กก่อด้วยอิฐ ลักษณะของอาคารแต่ละหลังมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะในการก่อสร้างใช้ระบบผนังรองรับเครื่องบน ไม่มีคาน ไม่มีเสา หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ปัจจุบันอยู่ในสภาพที่สวยงามเพิ่งผ่านการบูรณะมา หากใครอยากดูกุฏิกรรมฐานในสมัยอยุธยาให้มาดูวิหารน้อยแห่งนี้
วัดชมภูเวก
“วัดชมภูเวก” ตั้งอยู่ที่ ถ.สนามบินน้ำ ซ.นนทบุรี 33 ต.ท่าทราย อ.เมือง เป็นวัดมอญ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายระยะต้น ในสมัยพระนารายณ์มหาราช ราว พ.ศ. 2225 โบราณสถานแรกที่ถือเป็นสัญลักษณ์คู่วัดชมพูเวก คือ “พระมุเตา” หรือ “เจดีย์ทรงมอญ” ต่อมาได้ทำการบูรณะสร้างพระมุเตาให้สูงใหญ่กว่าเดิมและสร้างเจดีย์รายที่มุมพระมุเตาทั้งสี่ของฐาน นอกจากนั้นได้สร้างเจดีย์อีกสององค์ด้านหลังพระมุเตาเพื่อบรรจุอัฐธาตุอดีตเจ้าอาวาส ส่วนพระมุเตาสันนิษฐานว่าสร้างเพื่อบรรจุพระบรมธาตุ
ส่วน “อุโบสถเก่า” ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถหลังใหม่นั้น ก็มีอายุเก่าแก่ประมาณ 350 ปี เช่นกัน ลักษณะเด่นของอุโบสถเก่านี้คือ ถูกออกแบบให้มีประตูเข้า-ออก ทางด้านหน้าด้านเดียวตามคติมอญ เรียกว่า “โบสถ์มหาอุด” ผนังด้านข้างทั้งสองสอบเข้าเพื่อใช้ผนังในการรับน้ำหนักทั้งหมดแทนเสา เชื่อกันว่าอุโบสถลักษณะมหาอุดนี้ปลุกเสกของขลังได้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง
ส่วนจิตกรรมฝาผนังที่เลื่องชื่ออยู่บริเวณเหนือประตู เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ใต้รูปพระพุทธเจ้าเป็นภาพเขียนรูป “แม่พระธรณีบิดมวยผม” ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งงามวิจิตรด้วยความคดเคี้ยวของเส้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะของศิลปะขั้นสูงฝีมือบรมครู ซึ่งศิลปินที่เป็นจิตกรของกรมศิลปากรต่างยกย่องและรับรองว่าเป็นแบบอย่าง “ภาพเขียนแม่พระธรณีที่งดงามที่สุดในโลก” เลยทีเดียว
วัดชลอ
“วัดชะลอ” อยู่ในตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราว พ.ศ.2275 ตัววัดตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย หรือเดิมเรียกว่าคลองลัดบางกรวย ซึ่งขุดขึ้นใน พ.ศ. 2081 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยา
อุโบสถเก่าแก่ของวัดนั้นก็เป็นศิลปะสมัยอยุธยา ฐานอาคารโบสถ์แอ่นโค้งแบบที่เรียกว่า “ตกท้องสำเภา” ซึ่งเป็นงานที่นิยมสร้างในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันวัดชลอยังคงรักษาอุโบสถหลังเก่าไว้เป็นอย่างดี ตัวโบสถ์มีขนาดเล็ก มีหลักฐานว่าตัวอุโบสถได้รับการบูรณะต่อมาภายหลังโดยดูจากเสาขนาดใหญ่ทางตอนหน้าที่เป็นลักษณะซึ่งพบเห็นในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเข้าไปด้านในจะพบพระพุทธรูปงดงามสามารถเข้าไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลได้
วัดปรมัยยิกาวาส
“วัดปรมัยยิกาวาส” ตั้งในหมู่ที่ 7 บ้านโอ่งอ่าง ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด สัญลักษณ์ที่คุ้นตากันดีของวัดนี้ก็คือ “เจดีย์เอียง” หรือ “เจดีย์มุตาว” เป็นเจดีย์สีขาวทรงรามัญ แต่เดิมนั้นเจดีย์ก็ตั้งตรงตามปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปตลิ่งเกิดทรุดลง องค์เจดีย์ก็เลยเอนเข้าหาแม่น้ำอย่างที่เราเห็นกัน แต่ปัจจุบันก็มีการซ่อมแซมและเสริมโครงสร้างขององค์เจดีย์ให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อไม่ให้เจดีย์เอียงทรุดไปมากกว่านี้
เดิมเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดปากอ่าว” เชื่อว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากมีการขุดคลองลัดเกร็ด และได้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ต่อมาชาวมอญที่มาอาศัยอยู่ได้ร่วมใจกันบูรณะวัดร้างนี้ขึ้นมาใหม่ และได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ที่วัดนี้นอกจากจะมีเจดีย์เอียงอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประยุกต์ ด้านหลังพระอุโบสถมีพระเจดีย์รูปทรงแบบมอญซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR