xs
xsm
sm
md
lg

“แอสตราเซเนกา” ยื่น อย.ขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 แล้ว คาดอนุมัตินำเข้าใช้ฉุกเฉินสัปดาห์หน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แอสตราเซเนกา” ขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ต่อ อย.แล้ว คาดใช้เวลาพิจารณา 1 สัปดาห์ ก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาใช้ฉุกเฉินในไทย ส่งผลวัคซีนตัวเดียวกันที่จะผลิตในประเทศ 26 ล้านโดส ได้รับอนุมัติง่ายขึ้น ขณะที่เอกชนยังไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะเป็นการขอขึ้นทะเบียนเพื่อจำหน่ายให้รัฐบาล

วันนี้ (19 ม.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตวัคซีน 1 แห่ง ยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับการอนุญาตให้นำวัคซีนมาใช้แบบฉุกเฉินในไทยไม่เกิน 1 สัปดาห์นี้

นพ.โอภาส กล่าวว่า เท่าที่ดูเชื่อว่าวัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในระดับที่ยอมรับได้ หลังจาก อย.พิจารณาเอกสารแล้ว กระบวนเป็นไปตามแผนว่าจะมีวัคซีนมาฉีดให้คนไทยตั้งแต่ ก.พ.เป็นต้นไป โดยจะมีระบบติดตามหลังฉีดวัคซีนเพื่อดูอาการอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ว่า มีความผิดปกติหรือไม่ เช่น การแพ้ยา อาการไม่พึงประสงค์ หากมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็จะมีคณะกรรมการสอบสวนรายละเอียดเพื่อดูว่าเกี่ยวข้องกับการรับวัคซีนหรือไม่ และจะพิจารณาว่าจะให้ฉีดต่อหรือให้หยุดฉีด

นพ.โอภาส กล่าวว่า เราสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและล้างมือ แต่วัคซีนก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดอัตราการป่วยตายในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว แต่การฉีดวัคซีนก็ทำต้องควบคู่กับการป้องกันส่วนบุคคลเพื่อให้เกิดการป้องกันที่สมบูรณ์

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ดังกล่าว เป็นการยื่นขอขึ้นทะเบียนของ แอสตราเซนเนกา ในลอตการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นเอกสารต่างๆ ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว แต่ อย.ได้ขอให้บริษัทส่งเอกสารเพิ่มเติมในส่วนของคุณภาพมาตรฐานการผลิตของโรงงานในต่างประเทศ ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาว่าอนุมัติการขึ้นทะเบียนหรือไม่ ซึ่งหากเอกสารครบจะสามารถพิจารณาได้ภายใน 1 สัปดาห์

นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า หากวัคซีนตัวนี้ในลอตการผลิตในต่างประเทศได้รับการขึ้นทะเบียน จะส่งผลต่อวัคซีนตัวเดียวกันนี้ที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผลิตในประเทศไทย 26 ล้านโดส เมื่อผลิตในประเทศแล้วเสร็จก็จะทำให้ขึ้นทะเบียนได้เร็วขึ้น เพราะมีหลักฐานการผลิตเหมือนกับลอตที่ผลิตในต่างประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนจะไม่สามารถนำเข้าวัคซีนตัวนี้ได้ เพราะในการยื่นขอขึ้นทะเบียนของบริษัท แอสตราเซนเนกา ระบุว่า จะขายให้รัฐบาลไทย เพราะเป็นการอนุมัติการขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน


กำลังโหลดความคิดเห็น