ใครจะไปคิดว่าส่งท้ายปีเก่า ปีที่ต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีใหม่ เราก็กำลังเผชิญกับการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 และรอบนี้ทำท่าว่าจะหนักหน่วงอยู่ไม่น้อย
หลายสิ่งอย่างในช่วงปีที่กำลังจะหมดไปเป็นปีที่แสนสาหัสของผู้คนจำนวนมาก แต่ก็เป็นปีของผู้คนที่มองเห็นวิกฤตเป็นโอกาสจำนวนไม่น้อยเช่นกัน บางคนประคับประคองชีวิตให้ผ่านพ้นให้ได้ บางคนต้องสูญเสียโอกาสจำนวนมาก
เรียกว่าเป็นปีที่ผู้คนได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว
นับจากนี้หลายเรื่องในชีวิตที่เราเคยคิดเคยวางแผนอนาคตไว้ สำหรับบางคนไม่มีวันเป็นไปได้ หรือบางคนอาจต้องปรับแผนชีวิตใหม่หมด หรือบางคนยังไม่รู้จะเอาอย่างไรกับชีวิตต่อไป
แต่ที่แน่ ๆ เป็นปีแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน !
นับจากนี้มีความจำเป็นที่เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ปรับทัศนคติต่อการดำรงชีวิตใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง
และน่าจะถือเอาโอกาสการขึ้นปีใหม่ในการทบทวน ปรับเปลี่ยน ยอมรับ และเข้าใจชีวิตในแบบที่เราต้องปรับเข้ากับสถานการณ์อย่างที่มันควรจะเป็น
เริ่มตั้งแต่ในระดับครอบครัว จากเดิมที่เราเคยคิดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะอยู่กับเราไม่นาน ลูกคงเรียนออนไลน์ไม่นาน พ่อแม่ Work from Home ก็คงไม่นาน การวางแผนจัดการชีวิตบางอย่างจึงค่อนไปทางชะลอไว้ก่อน หลายสิ่งที่ตั้งใจจะทำ ก็คิดว่าอีกไม่นานค่อยทำรอให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นก่อน
แต่จนบัดนี้ต้องยอมรับว่า ไม่มีอะไรแน่นอนจริง ๆ
ดิฉันเองยอมรับว่าตอนนี้ก็ปรับวิธีคิดใหม่ และพูดคุยกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลูกชาย 2 คนซึ่งเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัยในเซี่ยงไฮ้ที่ยังไม่ได้กลับไปประเทศจีน แต่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ก่อนหน้านี้ลูกชายก็คาดหวังว่าจะได้กลับไปเรียนที่เซี่ยงไฮ้เทอมหน้า โดยมีความหวังมาโดยตลอด จนผ่านไปถึงสองเทอม และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีกำหนดกลับได้เมื่อไหร่ กระทั่งล่าสุดได้พูดคุยกันต้องบอกให้เขาคิดบนสถานการณ์จริง อย่าอยู่กับความหวัง ให้อยู่กับความจริง และเปลี่ยนวิธีคิดว่าถ้าปีหน้ายังไม่ได้กลับไปจะวางแผนการเรียนอย่างไร และจะจัดการกับชีวิตอย่างไร น่าจะดีกว่า
เพราะปัญหานี้ไม่ใช่แค่เขาสองคนที่ประสบอยู่ แต่ยังมีเด็กจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับปัญหาทำนองนี้อยู่ และยังไม่รู้จะจัดการชีวิตอย่างไร ได้แต่รอคอยด้วยความหวัง
ความจริงสถานการณ์โควิด -19 ยิ่งตอกย้ำว่าการเรียนรู้ในยุคใหม่ต้องไม่ใช่การเรียนรู้ที่เน้นวิชาการในห้องเรียน
และคำว่าการเรียนรู้ก็ต้องเปลี่ยนไปแบบจริงจังซะที
เพราะการเรียนรู้ไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียน และการเรียนรู้หรือบทเรียนต้องตอบโจทย์การเรียนรู้ชีวิต การใช้ชีวิต โดยเฉพาะการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง
และคนที่จะเริ่มการสอนวิชาชีวิตให้กับเด็กก็ไม่พ้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ใกล้ชิดเด็ก
ที่ผ่านมา พ่อแม่ส่วนใหญ่อาจมีค่านิยมและทัศนคติออกแนวเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของลูก และเน้นเรื่องเร่งรัดอ่านเขียนเรียนมากเกินไป ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับกระบวนทัศน์เป็นการเรียนรู้ร่วมไปด้วยกัน ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยสอนวิชาชีวิตให้ลูก สอนให้ลูกอยากเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ไม่ใช่หายใจเข้าออกเป็นเรื่องเรียนวิชาการอย่างเดียว
โดยมีพ่อแม่ทำหน้าที่ประหนึ่งเป็นวาทยกรที่ดี คอยประคับประคองและชี้แนะ
รับฟังอย่างตั้งใจ ปรับจากการเป็นผู้พูดฝ่ายเดียวมาเป็นผู้ฟังที่ดี
สะท้อนความรู้สึก ฝึกให้เด็กรับรู้และบอกเล่าความรู้สึกของตัวเอง
ชวนลูกคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา เปิดความคิดของเด็ก อาจใช้วิธีตั้งคำถามให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็น
การเรียนรู้ที่ดีต้องปล่อยให้เด็กลงมือทำ จะทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการความพยายาม ได้เรียนรู้การเผชิญปัญหาและพร้อมจะแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้ลูกมีความมั่นใจมากขึ้น เป็นการสั่งสมประสบการณ์ของลูก
สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ที่สนับสนุนแนวคิด Teach Less Learn More ได้แก่ ทฤษฎีคอนสตรัคติซิสต์(Constructivist) เป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับตัวผู้เรียน เชื่อว่าผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ ได้ด้วยตนเอง จากการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมอย่างกระตือรือร้น
สิงคโปร์เคยนำแนวทางนี้มาเป็นนโยบายการศึกษาชื่อว่า Teach Less Learn More หรือ TLLM ก็คือ “สอนให้น้อยลง แต่ให้เด็กเรียนรู้ได้มากขึ้น” จนคนสิงคโปร์ยอมรับว่าสิ่งที่ต้องเร่งพัฒนาให้กับเด็กรุ่นใหม่คือความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ และทักษะการใช้ชีวิต
แต่สำหรับบ้านเราในที่นี้อยากเน้นที่สถาบันครอบครัว เพราะเกรงว่ากว่าจะมีการปรับเปลี่ยนระดับนโยบายจริงๆ ก็อาจจะสายเสียแล้ว หรือเด็กโตกันหมดซะก่อน
ประกอบกับที่ผ่านมาผู้ใหญ่ในบ้านเราส่งสัญญาณให้เด็กอย่างผิด ๆ โดยเน้นให้เด็กเร่งรัดเรียนวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือเมื่อเข้าสู่รั้วโรงเรียนก็เป็นคุณครู ซึ่งส่งผลให้เด็กบ้านเราถูกทำให้อ่อนแอลง
ฉะนั้น สิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่คือเรื่องทัศนคติ พยายามห้ามลูกให้น้อยลง แล้วปล่อยให้ลูกได้ลองผิดลองถูก ได้ลงมือทำ ได้คิดและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีพ่อแม่คอยให้กำลังใจและชี้แนะเมื่อลูกร้องขอ
สถานการณ์วันนี้ บังคับให้เด็กต้องเข้าสู่สนามชีวิตจริงเร็วขึ้นแล้ว
โปรดอย่าใช้วิธีคิดแบบจ้องจะสอน แต่ควรสอนให้น้อยลง และปล่อยให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้นต่างหาก