xs
xsm
sm
md
lg

สภาถกโควิดรอบใหม่ “ฝ่ายค้าน” รุมอัด “ประยุทธ์” ต้องรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากแฟ้ม
สภาถกปัญหาโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ “ฝ่ายค้าน” รุมอัด “ประยุทธ์” ต้องรับผิดชอบ หละหลวมที่ชายแดนปล่อยแรงงานลักลอบเข้าประเทศ ลั่นต้องปรับทัศนคติตัวเอง เรียนรู้ปัญหา อย่าโทษแต่คนอื่น

วันนี้ (23 ธ.ค. 63) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติด่วน ให้สภาผู้แทนราษฎร เสนอความเห็นไปยังรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดระลอกใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในข้อเสนอของ ส.ส.นั้น ในส่วนของ ส.ส.ที่สังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ได้กล่าวสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการเร่งแก้ไขปัญหา พร้อมกล่าวชื่นชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นที่ร่วมมือปฏิบัติหน้าที่เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค

โดย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า รัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่ผ่านมา ได้ร่วมมือกันฟันฝ่าวิกฤต ทำตามมาตรการที่รัฐบาลร้องขอให้ทำ ทำให้ประเทศของเรารู้วิธีรับมือกับโควิด-19 พอสมควร ดังนั้น ปัญหาการระบาดในรอบนี้ เกิดจากระดับผู้ปฏิบัติการ ไม่ใช่นโยบาย หรือมาตรการของรัฐ ตนยืนยันว่า นโยบายและมาตรการไม่ได้มีข้อผิดพลาดแต่อย่างใด แต่ผิดพลาดที่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะบริเวณชายแดน ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจทำสิ่งที่ผิดพลาดในทางปฏิบัติไปแล้ว แต่จากนี้เรารู้แล้วว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งสั่งการอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้ผู้ที่ติดเชื้อเข้ามาสร้างความเสียหายในประเทศได้อีก และจากนี้หากรัฐบาลจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาใช้เพิ่มเติม เช่น การล็อกดาวน์ก็อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการกักกันเชื้อโรค กับการทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ด้วย นอกจากนี้ เราอยากให้รัฐบาลเร่งให้ความกระจ่างเกี่ยวกับวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าวด้วย วันนี้เราควรร่วมมือกันให้ประเทศฟันฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ รัฐสภาควรเร่งพิจารณาและสรุปรายงานข้อเสนอแนะที่มาจากสมาชิกทั่วทุกภูมิภาคในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และขอให้สภาเร่งส่งรายงานที่ผ่านการพิจารณาแล้วนี้ส่งไปยังรัฐบาลโดยเร็ว

นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายว่า ขณะนี้ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาด ทำให้กระทบทั้งเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประชาชน ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาแพทย์และพยาบาลได้ทุ่มเทอย่างมาก โดยร่วมกับประชาชน แต่กลับมีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่จากชายแดนเข้ามา ดังนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชน รัฐบาลต้องใช้วิธีเข้าถึงให้เร็ว ตรวจให้เยอะ โดยประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน พร้อมกับเร่งเยียวยาแรงงานอย่างเป็นระบบ สำหรับมาตรการล็อกดาวน์ควรล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่มีปัญหา อาจเป็นบางจังหวัด บางอำเภอไป วันนี้ต้องทำให้ชีวิตของประชาชนกับเศรษฐกิจเดินคู่กันไปได้

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (กก.) อภิปรายว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับไวรัสโควิด-19 มาตลอด ซึ่งตนเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยในการรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเกิดจากรัฐบาลหละหลวมในการป้องกันปัญหาสองด้าน คือ 1. ความหละหลวมที่ชายแดน และ 2. การบริหารนโยบายแรงงาน ที่ไม่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ การนำเข้าแรงงานมีต้นทุนสูง ทำให้เกิดการลักลอบใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย รวมถึงแรงงานที่เข้ามาไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขด้านสุขภาพได้เลย

ดังนั้น รัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ท่านต้องไม่เอาตัวรอดโดยการโทษคนอื่น ท่านต้องหาสาเหตุจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการระบาดครั้งนี้ และเร่งปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายนั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่การล็อกดาวน์ต้องควบคู่ไปกับการเยียวยาผู้ประกอบการ ที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราว รวมถึงคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำที่ต้องเสียรายได้ด้วย นอกจากนี้ ขอเรียกร้องไปยังทุนธนาคารต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ขอให้ล็อกดาวน์หนี้สินให้ประชาชนที่ต้องถูกล็อกดาวน์ในครั้งนี้ด้วย ส่วนการกักตัวแรงงานที่ติดเชื้อ อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องน้ำและอาหาร เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องออกมาหาเอาเอง รัฐบาลไม่มีข้ออ้างใดๆ ว่าไม่มีงบจัดการหรือเยียวยาคนที่ถูกล็อกดาวน์ เพราะมีเงินจากการกู้เพื่อมาแก้ปัญหานี้จำนวนมาก การดูแลผู้ติดเชื้อต้องทำไปควบคู่กับการประคับประคองเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านต่างย้ำถึงความล้มเหลวต่อการรับมือการระบาดของโรค โดยเฉพาะการบริหารสถานการณ์​ของผู้นำรัฐบาล พร้อมกังวลต่อสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 นั้น จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคเอกชนเสียหาย

อาทิ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 มาจากความหละหลวมและละเลย การลักลอบเข้าประเทศตามชายแดนผ่านช่องทางธรรมชาติ หรือ ช่องทางปกติที่ต้องเสียเงิน ที่ตนมองว่าเป็นฝุ่นใต้พรม เพราะการลักลอบแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายมีบุคคลที่เกี่ยวข้องและลี้ภัยไปที่ประเทศออสเตรเลีย นอกจากนั้น ต่อปัญหาดังกล่าวประชาชนสงสัยว่ามีเจ้าหน้าที่รับเงินสินบน ราคาระหว่าง 6,500 บาท ถึง 10,000 บาท โดยเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุครั้งแรกว่าไม่มี แต่ภายหลังยอมรับว่า อาจมีข้าราชการเกี่ยวข้อง ดังนั้น ควรตั้งกรรมการสอบสวนอย่างจริงจัง และใช้โอกาสเพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาการระบาด ส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า โควิด-19 เป็นโรคกระจอก อย่างไรก็ตาม จากที่ตนเคยเรียนว่าหนูเป็นพาหะกาฬโรค แต่ปัจจุบันหนูเป็นพาหะของโควิด-19 หากรัฐบาลคุมไม่ดี การระบาดไปทั่วประเทศต้องเจอปัญหาเศรษฐกิจแน่นอน นอกจากนั้น การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้างและมีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า วันที่ 23 ธันวาคม จะกวาดล้าง ทำให้แรงงานผิดกฎหมายถูกลอยแพ เกิดกรณีทิ้งแรงงานในพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์เกิดขึ้นรอบๆ ซึ่งตนมองว่าการแพร่เชื้อเกิดจากปากของ พล.อ.ประยุทธ์
“รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 แต่ไม่มีมาตรการรูปธรรมเพื่อป้องกันการระบาด สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ สถานกักกันโรคระดับจังหวัดต้องทำให้ทันสถานการณ์ และสนับสนุนงบประมาณที่ใช้กักกันและรัฐต้องอุดหนุนบางส่วน เพื่อให้แรงงานเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย ไม่วางระบบกักกันให้ถูกต้อง ผมเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับทัศนคติตัวเอง เพราะไม่เคยโทษตนเอง ล่าสุด ไปซักผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ว่า แรงงานมาจากไหน ทั้งที่ควรถาม ผบ.ทบ. ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยเรียนรู้ปัญหา บอกให้ประชาชนรับผิดชอบร่วมกัน แต่ต้องถามกลับว่าคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ เคยรับผิดชอบอะไรหรือยัง” นายวิโรจน์ กล่าว

ขณะที่ นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ อภิปรายด้วยว่า รัฐบาลไม่เคยมีมาตรการควบคุมสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปัจจุบันพบว่า สินค้าขึ้นราคา ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกระจายอยู่รอบกรุงเทพฯ ขณะที่มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง และควรสื่อสารให้แรงงานเข้าใจ โดยใช้ภาษาเมียนมา นอกจากนั้น รัฐบาลต้องดูแลช่วยเหลือแรงงานคนไทยที่ประกอบอาชีพ หรือใช้แรงงานในต่างแดน อาทิ ประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย


กำลังโหลดความคิดเห็น