โลกสุขภาพเปลี่ยนผ่านด้วยดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรมและส่งมอบอุปกรณ์นวัตกรรม “ฝึกฝน” ระบบบำบัดผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทางสมองด้วยเกมแอนิเมชัน ให้แก่ 11 โรงพยาบาล รองรับสังคมสูงวัยและผู้ป่วยทุกเพศวัยที่อยู่ห่างไกลได้เข้าถึงการมีสุขภาพที่ดีและเทคโนโลยีที่ดี ลดการนำเข้าอุปกรณ์ราคาแพง ณ ห้อง 609 ชั้น 6 คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.เซง เลิศมโนรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นวัตกรรม”ฝึกฝน” เป็นนวัตกรรมเพื่อฟื้นฟูบำบัดสมองและแขนสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ออทิสติก สมองพิการ และดาวน์ซินโดรม เป็นผลงานวิจัยพัฒนาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โดยนำเอาวัสดุที่หาง่ายอย่าง Skate Board มีล้อ มาออกแบบทางวิศวกรรมให้สามารถเคลื่อนที่ได้โดยใช้แขน ในส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะมีเครื่องจะตรวจจับเซนเซอร์จากการบีบมือ และเซนเซอร์ตรวจจับสีที่อยู่บนพื้นโต๊ะ เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนมือไปยังสีต่างๆ จะแทนคำสั่งการควบคุมเกมบนจอคอมพิวเตอร์ ทำงานบนระบบ Android ในระหว่างการใช้งานทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกสายตา สมองและการเคลื่อนไหวของแขนไปด้วย ช่วยให้การฟื้นฟูสุขภาพมีประสิทธิภาพ นับเป็นการนำกายภาพบำบัดมาประยุกต์เข้ากับเกมให้เพลิดเพลิน และสามารถทดแทนเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าในราคาสูงเครื่องละหลายล้านบาท
คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการจัดอบรมสัมมนาบุคลากรนักกายภาพบำบัด ฝึกการใช้นวัตกรรมและส่งมอบอุปกรณ์นวัตกรรม “ฝึกฝน” ให้แก่เครือข่ายนักกิจกรรมบำบัดจาก 11 โรงพยาบาล ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสะเดา ต.สะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา 2. โรงพยายาลนราธิวาสราชนครินทร์ ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส 3. โรงพยาบาลแว้ง อ.แว้ง จ.นราธิวาส 4. โรงพยาบาลยะหริ่ง (กายภาพบำบัด) ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี 5.โรงพยาบาลบ้านโป่ง (กลุ่มงานกายภาพบำบัด) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 6. โรงพยาบาลปากพะยูน ต.ปากพะยูน อ.ปากพะยูน จ.ปากพะยูน 7. โรงพยาบาลจะนะ ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา 8. โรงพยาบาลสมุทรสาคร อ.เมือง จ. สมุทรสาคร 9. โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น 2 ม.2 ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 10. โรงพยาบาลบางแพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี 11.โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเพชรบุรี ต.คลองกระแซง อ.เมือง จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยจอ LED ที่ใช้ควบคู่ไปกับชุดอุปกรณ์ นวัตกรรม “ฝีกฝน” และสาธิตวิธีการใช้งานแก่เครือข่ายนักกิจกรรมบำบัด
โดยก่อนหน้านี้ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มอบเครื่องต้นแบบ “ฝึกฝน” ให้กับโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆแล้ว 70 แห่ง เพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูผู้ป่วย ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น สถาบันสิรินธรเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภากาชาดไทย , โรงพยาบาลราชวิถี , สถาบันประสาทวิทยา , สถาบันราชานุกุล เป็นต้น
ผศ.ดร.กภ. ภครตี ชัยวัฒน์ อาจารย์ด้านกายภาพบำบัดชุมชน คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงนวัตกรรม “ฝึกฝน” ว่า จากการศึกษาผ่านงานวิจัยในชุมชน พบว่า การใช้เครื่อง “ฝึกฝน” ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดมีผลให้ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์ อัมพาต ช่วยฟื้นฟูการทำงานของแขนและมือได้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและผู้ป่วยไม่เบื่อหน่าย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตโดยการเลือกใช้และกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมกับพยาธิสภาพ และบริบทของแต่ละบุคคล ได้แก่ ความสนใจ สมรรถนะความสามารถของผู้ป่วย เป็นต้น
ประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามี นักกายภาพบำบัด ทำงานในชุมชนเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของภาคบริการระดับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ คลินิกหมอครอบครัว หน่วยสุขภาพขององค์กรท้องถิ่น รวมทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากจะให้การรักษาพยาบาลแล้วส่วนมากยังมีพันธกิจในการให้บริการแก่ชุมชนด้วย การที่นักกายภาพบำบัดมีนวัตกรรมฝึกฝนนั้นช่วยลดภาระการทำงาน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการได้ง่ายรวดเร็วขึ้น สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสาธารณสุข ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงภายในเขตสุขภาพใกล้บ้าน โดยเครือข่ายบริการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และที่สำคัญคือช่วยประหยัดลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพอีกด้วย