กรณีที่มีการแนะนำให้ใช้ยาหมอทหาร ในการรักษาโรคเกาต์ อัมพฤกษ์ อัมพาต เหน็บชา เส้นตึง กระดูกทับส้น ปวดขา และปวดข้อ ซึ่งมีการใส่เลขสารบบอาหารบนผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากการตรวจสอบของอย.พบว่าเลขสารบบอาหารดังกล่าวเป็นเลขของผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อหนึ่ง อีกทั้งยาหมอทหารมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และเป็นยาที่ไม่ได้รับอนุญาตจากอย.
วันนี้ (21 ธ.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง ยาหมอทหาร ใช้รักษาโรคได้กว่า 10 โรค ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลที่ปรากฏดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีการแนะนำให้ใช้ยาหมอทหาร ในการรักษาโรคเกาต์ อัมพฤกษ์ อัมพาต เหน็บชา เส้นตึง กระดูกทับส้น ปวดขา และปวดข้อ ซึ่งมีการใส่เลขสารบบอาหารบนผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พบว่าเลขสารบบอาหารดังกล่าวเป็นเลขของผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อหนึ่ง อีกทั้งยาหมอทหารมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และเป็นยาที่ไม่ได้รับอนุญาตจากอย. จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อซื้อยาแผนโบราณที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยา ฉลาก หรือซื้อยาจากแหล่งจำหน่ายที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะอาจได้รับยาที่มีการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ยาไม่มีคุณภาพมาตรฐานทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ นอกจากนั้นอย. เคยตรวจพบการปลอมปนยาสเตียรอยด์ในยาหมอทหาร เพื่อให้ผู้ใช้เห็นผลทันใจ ซึ่งยาสเตียรอยด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย เยื่อบุกระเพาะอักเสบ และอาจถึงขั้นกระเพาะทะลุ กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันลดลง ไตวาย บางรายอาจเสียชีวิตได้
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้แจ้งมาที่ช่องทางการร้องเรียนแจ้งเบาะแส อย. สายด่วน 1556 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ที่เว็บไซต์ www.oryor.com