xs
xsm
sm
md
lg

ยกเลิกสอบโอเน็ต - ข่าวดีก่อนสิ้นปี!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องของนโยบายกระทรวงศึกษาธิการที่มีผู้คนขานรับ เห็นด้วย และลุ้นกันมานานเป็นจำนวนมาก

นั่นก็คือการยกเลิกการสอบโอเน็ตระดับชั้น ป. 6 และ ม. 3


จากหนังสือลงนามโดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( ศธ.) เรื่อง การยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ปีการศึกษา 2563 ถึง ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า 

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายลดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ในปีการศึกษา 2563 เนื่องจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ทำให้สถานศึกษาไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเครียดจากการทดสอบของผู้เรียน ประกอบกับศธ.กำลังดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งให้ชุมชนทุกแห่งมีโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพ แหล่งการเรียนรู้ที่ดี มีครูผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถ สอนครบทุกชั้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่พัฒนาคุณภาพผู้เรียนที่สอดคล้องกับความถนัดหรือความสนใจของผู้เรียนเป็นรายบุคคลและบริบทของโรงเรียน รวมทั้งการวัดและประเมินผลที่ต้องแตกต่างกันตามบริบทของโรงเรียน

ดังนั้น ด้วยความแตกต่างของรูปแบบการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล และศักยภาพของผู้เรียนของโรงเรียนแต่ละแห่ง จึงจำเป็นต้องมีการปรับระบบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ดังนั้น ศธ.จึงเห็นควรให้มีการยกเลิกการสอบโอเน็ต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป

…..

หมายความว่าการสอบโอเน็ตประจำปีการศึกษา 2563 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจะสอบในช่วงปี 2564 จะยกเลิก ส่วนการสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2563 ให้คงไว้ก่อน เพราะนักเรียนต้องใช้คะแนนในการเข้าเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำหนดองค์ประกอบในการเข้าศึกษาต่อไว้แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทัน โดยคาดว่าจะยกเลิกในปี 2565 

แต่ทั้งนี้อำนาจในการยกเลิกการสอบโอเน็ตหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับสถาบันทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (สทศ.) ที่ต้องประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งในฐานะหน่วยงานผู้จัดสอบ

ส่วนจะใช้การทดสอบใดมาเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแทนคะแนนโอเน็ต ปีการศึกษา 2565 ก่อนหน้านี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า แต่ละคณะ/สาขาวิชาจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ และองค์ประกอบว่าจะใช้อะไรในสัดส่วนเท่าไร ทั้งคะแนนจากการสอบ 9 วิชาสามัญ การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT และการทดสอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ PAT 

และเมื่อยกเลิกการใช้คะแนนโอเน็ตแล้วก็อาจต้องพิจารณายกเลิกการใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPAX ด้วย เนื่องจากทปอ.มองว่า GPAX ไม่สามารถนำมาใช้โดยตรงได้ เพราะปัจจุบันคุณภาพของโรงเรียนแต่ละแห่งไม่เท่ากัน บางโรงเรียนยังมีปัญหาปล่อยเกรด ซึ่งที่ผ่านมาการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยจะใช้คะแนนโอเน็ตเข้ามาถ่วงน้ำหนักของ GPAX เมื่อยกเลิกใช้คะแนนโอเน็ต อาจจำเป็นต้องยุติการใช้ GPAX ด้วย 

โอเน็ต,,,โอเน็ต...ได้ยินกันมานาน ขอทวนความทรงจำกันสักนิด....

การสอบโอเน็ต หรือ O-NET (Ordinary National Educational Test) เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนที่ต้องการวัดผ่านการจัดการทดสอบในระดับชาติ โดยมีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและจัดสอบทั่วประเทศ 

ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องข้อสอบโอเน็ตในบ้านเราว่ามีปัญหามาก คะแนนโดยเฉลี่ยของเด็กต่ำมาก ทั้ง ๆ ที่เด็กส่วนใหญ่เรียนกวดวิชากัน มีความพยายามและข้อเรียกร้องจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กนักเรียนเอง ก็อยากให้ทบทวนวิธีการสอบโอเน็ตใหม่ เพราะถ้าวัดคะแนนสอบโดยใช้ข้อสอบชุดเดียวกันทั้งประเทศ และบอกว่าผลสัมฤทธิ์ของเด็กต่ำเป็นเรื่องไม่แฟร์ ทั้งมาตรฐานของข้อสอบที่ไม่สอดคล้องกับการวัดมาตรฐานความรู้ของเด็กได้จริง เพราะไม่ได้วัดในสิ่งที่เด็กนำไปใช้ และไม่สอดคล้องกับบริบทของนักเรียนที่แตกต่างกัน 

รวมไปถึงมีเสียงสะท้อนว่า นักเรียนต้องสอบเผื่อเลือกเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจำนวนมาก เพราะมหาวิทยาลัยมีคณะ/สาขาเพิ่มขึ้น จึงสอบไว้เผื่อเลือก ดังนั้นเพื่อไม่ให้มีปัญหานี้ นักเรียนจะได้มีเป้าหมายว่าต้องการเรียนคณะ/สาขาอะไร และเลือกสอบในวิชานั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา เพราะถ้านักเรียนไม่รู้จักตัวตน หรือความต้องการของตัวเอง ก็เลือกสอบหลายวิชา และทำให้เหนื่อยกับการสอบมาก แถมยังต้องใช้เงินในการสอบมากด้วย

ในช่วงเกือบทศวรรษที่บ้านเราพูดถึงเรื่องปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด แต่ผลคะแนนระดับชาติกลับไม่ตอบโจทย์ มิหนำซ้ำยังสะท้อนว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กนักเรียนต่ำมาก การที่เราใช้โอเน็ตมาหลายปี แต่การศึกษายังไม่ดีขึ้น สะท้อนอะไรได้หลายอย่างว่าการสอบโอเน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศจริงหรือ ปัญหาอยู่ที่ครู เด็กนักเรียน หรือข้อสอบ ?

และถึงที่สุดแล้ว เรานำผลคะแนนโอเน็ตไปปรับใช้พัฒนาการเรียนการสอนได้หรือไม่ เป้าหมายการสอบโอเน็ตเพื่ออะไร และช่วยทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้นได้ไหม

สำหรับดิฉันแล้ว การยกเลิกสอบโอเน็ตนับเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ทีเดียวเชียว

และไหน ๆ ก็ไหน ๆ นโยบายต่อไปช่วยพิจารณาเรื่อง “คืนครูสู่ห้องเรียน” ด้วยเถอะนะ
กำลังโหลดความคิดเห็น