ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - อธิการ ม.ราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะ กก.สทศ. ออกโรงซัดเละผู้บริหาร “สพฐ.” บริหารโอเน็ตผิดพลาดทุกระดับสร้างปัญหาตามมาอื้อ แต่กลับโยนบาป “สทศ.” แนะ “รมว.ศึกษา” คิดรอบคอบสั่งฟังข้อมูลรอบด้านก่อนฟันธงโละทิ้งโอเน็ตหรือไม่และต้องสร้างความชัดเจนโดยเร็ว
วันนี้ (18 ธ.ค.) ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวเรื่องการยกเลิกการสอบโอเน็ตทางสื่อมวลชนว่า ขณะนี้สังคมทั้งผู้ปกครอง ครู และนักเรียนมีความสับสนในเรื่องดังกล่าว ตนจึงขอชี้แจงและให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ประเด็นการนำผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติชั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม.6) ไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2564 มีการสอบโอเน็ตอย่างแน่นอน ขณะนี้ทาง สทศ.ได้ดำเนินการเรื่องข้อสอบและการบริหารการสอบ และทำข้อตกลงร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยที่ตกลงร่วมกัน ทปอ.จะใช้คะแนนโอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึงปี 2565
อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2565 ขอให้รอความชัดเจนจาก ทปอ.อีกครั้งหนึ่ง และในการสอบโอเน็ตในปี 2564 สทศ. และ ทปอ.ได้ตกลงร่วมกันลดการสอบตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยนำรายวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป และคณิตศาสตร์ 2 ซึ่งเดิมต้องสอบเป็น 9 วิชาสามัญ มาเป็นการสอบโอเน็ตแทน และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของข้อสอบเน้นการคิดวิเคราะห์และการบูรณาการการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
ผศ.ดร.อดิศรกล่าวต่อว่า ประเด็นการสอบโอเน็ต ป.6 และ ม.3 ปี 2564 ที่ทางเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.ออกมาให้ข่าวว่าจะมีการยกเลิก ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบอกว่ายังไม่เคาะว่าจะยกเลิกหรือไม่ ตนเข้าใจว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรับทราบปัญหาเรื่องผลกระทบทางลบจากการสอบโอเน็ต เช่น ครูต้องสอนพิเศษเพิ่มเติมหรือโรงเรียนต้องจัดหาติวเตอร์ติวเด็ก นักเรียนมีความเครียด ต้องเรียนกวดวิชา ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นต้น
ผลกระทบดังกล่าวนี้มันไม่ใช่ผลกระทบจากการสอบโอเน็ตแต่เป็นผลกระทบจากการบริหารการใช้ผลการสอบโอเน็ตที่ผิดพลาดของผู้บริหาร สพฐ.ทุกระดับ เช่น การนำผลการทดสอบโอเน็ตไปใช้ประกอบในการโยกย้ายครูและผู้บริหารสถานศึกษา การพิจารณาความดีความชอบ การขอเลื่อนวิทยฐานะ ที่สำคัญคือ การประกวดแข่งขันคะแนนโอเน็ตของเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ซึ่งหากมองมุมบวกแสดงให้เห็นว่า สพฐ.มีความเชื่อมั่นในคะแนนการสอบโอเน็ตจึงได้นำคะแนนที่มีมาตรฐานมาใช้เป็นเกณฑ์ในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ดังกล่าว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายจนทำให้มองว่าโอเน็ตคือปัญหา ทั้งๆ ที่ปัญหาจริงๆ คือการบริหารการใช้ผลการสอบที่ผิดพลาดของ สพฐ.เอง
ผศ.ดร.อดิศรกล่าวอีกว่า การสอบโอเน็ตเป็นการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Education Testing : ONET) ดำเนินการโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดสอบผู้เรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนและโรงเรียนตามหลักสูตร ซึ่งตามหลักสูตรที่ สพฐ.ใช้ในปัจจุบันเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐานโอเน็ตในปัจจุบัน จึงเป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตร
ส่วนอนาคต หากมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเป็นแบบอื่น เช่น หลักสูตรอิงสมรรถนะ การสอบโอเน็ตก็ต้องเป็นการประเมินสมรรถนะของผู้เรียนตามหลักสูตร สำหรับการนำผลการทดสอบไปใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สพฐ.ต้องนำผลการทดสอบโอเน็ตมาพิจารณาในภาพรวมว่าพื้นที่ใด โรงเรียนใดที่มีผลการทดสอบเน็ตต่ำ สพฐ., สพป., สพม.จะจัดการระดมทรัพยากร ทั้งครู งบประมาณ สื่อการเรียนการสอน ระบบการนิเทศ ระบบการบริหารจัดการ เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่หรือโรงเรียนดังกล่าวได้อย่างไร รวมถึงพื้นที่หรือโรงเรียนที่มีผลการสอบโอเน็ตสูงจะมีระบบส่งเสริมสนับสนุนต่อไปอย่างไร ไม่ใช่มีแต่จะเร่งรัดเอาคะแนนสอบโอน็ตให้สูงขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว
“การบริหารจัดการการนำผลการทดสอบโอเน็ตไปใช้ของ สพฐ.ทำแบบตื้นเขิน คิดแบบง่ายๆ จึงเกิดปัญหามากมายไม่ยอมโทษตัวเองแต่กลับไปโทษการสอบบโอเน็ตให้เป็นแพะรับบาป” ผศ.ดร.อดิศรกล่าว
ผศ.ดร.อดิศรกล่าวอีกว่า สทศ.เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกามีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสอบโอเน็ต ตามมาตรา 8 (2) พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 คือ ดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินผลการจัดการศึกษาและการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ตลอดจนให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทดสอบทั้งระดับเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา จึงเป็นหน่วยงานกลางในการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศซึ่งรัฐจัดสรรงบประมาณให้หลายแสนล้านบาท ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ควรต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างไร ในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนแต่มีการจัดทดสอบระดับชาติเพื่อประเมินคุณภาพ และมาตรฐานผู้เรียนทั้งสิ้น
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นคนที่มีแนวคิดใหม่ๆ มีความปรารถนาที่ดีต่อประเทศชาติ อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นเวลาระยะหนึ่ง ต้องรู้จักโครงสร้างและรู้จักคนในกระทรวงศึกษาธิการได้ดีว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น การตัดสินใจเรื่องการสอบหรือไม่สอบโอเน็ต รัฐมนตรีจึงต้องมีความรอบคอบ ต้องรับฟังข้อมูลจากหลายภาคส่วน พิจารณาทั้งผลกระทบทางบวก และทางลบ และสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้โดยเร็ว” นายอดิศรกล่าวในที่สุด