คุณเคยเกลียดชังใครไหม ?
คุณเกลียดชังคนนั้นด้วยสาเหตุอะไร ?
ดิฉันพยายามนึกถึงคำตอบเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่มีคำตอบ เพราะไม่เคยถึงขนาดเกลียดชังใคร จำได้ว่าตั้งแต่เล็กจนโตอาจมีบ้างที่เคยไม่พอใจหรือโกรธเคืองใคร ประเภททะเลาะกันก็มี แต่เมื่อไล่เรียงเหตุการณ์แล้วนึกย้อนกลับไปก็มองว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล็กน้อย ยิ่งเมื่อวันเวลาผ่านไป ประสบการณ์ชีวิตเติบโตขึ้น ความรู้สึกที่เคยโกรธเคืองโดยง่ายก็ลดลงอย่างชัดเจน
แล้วเมื่อครั้งที่เคยมีเรื่องโกรธหรือเคืองใครก็มักจะเข้าไปพูดคุยแบบเผชิญหน้ากันว่าไม่พอใจเรื่องอะไร ชวนเปิดใจพูดกันเลย หลังจากพูดคุยหรือถกเถียงแบบได้ที่ อย่างมากก็เลิกคุยกัน แต่ส่วนใหญ่มักจบลงด้วยดี กลับมาคบหากันดังเดิม กับบางคนดีกว่าเดิมกลายเป็นมิตรสหายรู้ใจกันเลยก็มี
แต่ปัจจุบันดูเหมือนไม่เป็นเช่นนั้น !
ทำไมความเกลียดชังของผู้คนยุคนี้ดูเหมือนสามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย และเป็นความเกลียดชังที่ไม่ได้มีปัญหาระดับบุคคลต่อบุคคลหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ชัดเจน
แต่ส่วนใหญ่กลายเป็นปัญหาเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทางการเมือง ที่ทำให้มิตรภาพของใครต่อใครมากมายต้องสะดุด กระทบกระทั่ง หรือเลิกคบกันชั่วคราวจนถึงถาวร ฯลฯ เพราะความคิดความเชื่อบนฐานการเลือกข้อมูลคนละชุด
ความรู้สึกถูกนำมาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินผู้อื่นมากกว่าเหตุผล หรือแม้กระทั่งการคิดว่าถ้าเพื่อนคิดไม่เหมือนเราก็ต้องผลักให้เขาอยู่คนละฝั่ง
เรามาถึงจุดของการเลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะฟัง เลือกที่จะพูด เลือกที่จะเขียน เลือกที่จะคิด ฯลฯ ก็เฉพาะในมุมที่เราคิดเราเชื่อเท่านั้น
ไม่แปลกใจที่เราจะพบเห็น Hate Speech (ประทุษวาจา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโลกออนไลน์ ที่เต็มไปด้วย “ความเกลียดชังบนออนไลน์” เกลื่อนเมือง
ยิ่งสถานการณ์การเมืองร้อน เรื่องความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ ก็ยิ่งเผ็ดร้อน เผยแพร่เร็ว และกลายเป็นความรุนแรงบนโลกออนไลน์
เพราะนอกจากจะเป็นความรุนแรงระดับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นและความรู้สึกผ่านโซเชี่ยลมีเดีย ทั้งเฟสบุ๊ค อินสตราแกรม ฯลฯ แล้วลองคิดภาพว่าเด็กและเยาวชนต้องเติบโตขึ้นมาในสังคมยุคแห่งความเกลียดชัง และเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพสังคมไทยที่แบ่งขั้วชัดเจน มีการใช้ภาษาที่แสดงออกถึงความขัดแย้ง จนไปถึงการใช้ความรุนแรงทางภาษา
แม้แต่สื่อในทุกช่องทางเองก็มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เน้นประเด็นเรื่องความขัดแย้งมากกว่าเนื้อหา หรือประเด็นที่แสดงถึงผลกระทบต่อข่าวสารชิ้นนั้น ๆ ยิ่งท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนแรง แม้สื่อสารมวลชนมีการนำเสนอข่าวที่มีความหลากหลาย แต่ก็มักนำเสนอข่าวสารที่มีเนื้อหาของความขัดแย้ง บางคนมักใช้คำพูดจาเสียดสี ส่อเสียด หรือการนำเสนอข่าวปิงปอง ประเภทคนนั้นพูดแบบนี้ คนนี้ตอบโต้แบบนั้น คนที่เสพข่าวการเมืองบ่อย ๆ ก็อาจมีอารมณ์ร่วมไปด้วย
อย่าว่าแต่เด็กและเยาวชนเลยที่เกิดคำถามมากมายท่ามกลางบรรยากาศการความขัดแย้ง แม้แต่ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ก็อึดอัดคับข้องใจมิใช่หรือ !
ทุกวันนี้เรากำลังเผชิญกับสังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง แล้วเราคำนึงกันไหมว่ากำลังสร้างเด็กในยุคต่อไปแบบไหน เด็กที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเกลียดชังชนิดแบ่งขั้วแบ่งข้างมาเกินทศวรรษจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในลักษณะไหน ความเกลียดชังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมอาจเป็นการยั่วยุให้เกิดผลร้ายต่อผู้ใดผู้หนึ่งได้เลยทันทีหรือนําไปสู่ความรุนแรง เช่น การปลุกระดมให้เกลียดใคร ทําร้ายร่างกายใคร หรือข่มขู่ใคร ฯลฯ
หากปล่อยให้มีความเกลียดชังเกิดขึ้นจนชาชินถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง จนทำให้ความเคารพซึ่งกันและกันลดน้อยลงเรื่อย ๆ เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และเกิดอคติขึ้นในสังคมแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ?
เราจะอยู่ท่ามกลางความเกลียดชังแบบนี้ได้อย่างไร ?
และถ้าความเกลียดชังได้ลุกลามเข้ามาในบ้านด้วยล่ะ ?
แน่นอนว่าคนเป็นพ่อแม่สำคัญที่สุดที่ต้องทำให้บ้านปลอดความเกลียดชังให้ได้ก่อน เพราะถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองอยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตัวแบบนั้น ซึ่งก็ต้องปรับตัวเองให้ได้ก่อน แม้จะไม่เห็นด้วยกับบางสถานการณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยวิถีแห่งความเกลียดชัง ตรงกันข้าม พยายามชี้ให้ลูกเห็นว่าความเกลียดชังจะนำไปสู่อะไรได้บ้าง
สิ่งสำคัญควรชี้ให้ลูกเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ เพียงแต่เราต้องไม่ใช้ความเกลียดชังในการนำทางความคิด
รวมไปถึงการชี้ให้เห็นถึงการเสพสื่ออย่างรู้เท่าทัน การใช้โซเชียลมีเดียยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะมีทั้งข้อมูลจริงและเท็จมากมาย ฉะนั้น ควรจะต้องรับข้อมูลแบบมีสติ ไม่แชร์ข้อมูลใด ๆ ที่ไม่แน่ใจหรือไม่มีที่มา เพียงแค่ไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรส่งต่อข้อมูล เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือของการส่งข่าวลวง อีกทั้งอาจผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็ได้
ที่สำคัญต้องไม่ส่งต่อความเกลียดชัง !
และทุกครั้งที่คิดจะโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ ต้องตระหนักด้วยว่าจะไปกระทบผู้อื่นหรือไม่ อย่าโพสต์โดยใช้อารมณ์ ความคึกคะนอง และความรู้สึกเป็นตัวตั้ง แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาจากการโพสต์ข้อความด้วยว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความเกลียดชังหรือไม่
ความเกลียดชังเป็นพลังด้านมืดที่มักก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงตามมาในสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าสังคมตะวันตกหรือตะวันออก มีทั้งความเกลียดชังในระดับตัวบุคคล คณะบุคคล ไปจนถึงกลุ่มมวลชน
ผลลัพธ์ของความเกลียดชังแบบสุดขั้วมักจะลงเอยคล้ายกับผลลัพธ์ของความรักแบบไม่ลืมหูลืมตาเหมือนกับว่า ถ้าลองได้รักแล้วอะไรก็ดีไปหมด ฉะนั้น ถ้าลองได้เกลียดชังแล้วอะไรก็เลวร้ายไปหมด ไม่มีทางอยู่ร่วมกันได้
ส่วนคนที่มีความคิดกลาง ๆ ประมาณแสดงออกหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา เห็นด้วยบางเรื่อง ไม่เห็นด้วยในบางประการ ก็มักจะถูกผลักให้ไปอยู่ฝั่งตรงข้ามหากไม่ตรงกับความคิดความเชื่อของตัวเองอีกต่างหาก
ความเกลียดชังกลายเป็นกำแพงที่กั้นขวางการใช้เหตุผล และไม่มีพื้นที่สำหรับการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง อีกทั้งยังนำไปสู่การเอาชนะคะคานที่ไม่สนใจกฎกติกาใดๆ ทั้งสิ้น
เข้าขั้นยิ่งเกลียดชังมากก็ยิ่งอยากทำลายมาก ถึงขนาดยอมให้ความเกลียดชังนั้นทำลายสติปัญญาของตัวเอง
ความเกลียดชังไม่เคยให้ผลดีและปราณีใคร !