xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวเพจ “มายซิสบอท” ช่วยเหยื่อถูกคุกคามทางเพศ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ผบช.ไซเบอร์ร่วมกับสถานทูตเนเธอร์แลนด์ เปิดตัวเพจ มายซิสบอท” ช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวและผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ

วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ โรงแรมไอคอนสยาม เมื่อเวลา 18.00 น. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) ร่วมกับ นายเกส ราเดอ เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่าย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ดีแทค และ ChangeFusion เปิดตัว เพจ “มายซิสบอท MySis Bot” โดยการพัฒนาระบบ AI Chatbot ผ่าน facebook เพื่อช่วยเหลือผู้หญิง เด็ก และเพศทางเลือกที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศให้สามารถพูดคุยสอบถามปัญหาและแจ้งเหตุออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม.

พล.ต.ท.กรไชย กล่าวว่า โครงการมายซิสบอทเป็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเปราะบาง ได้แก่ สตรีและเด็ก โดยใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารให้แก่ผู้ที่ประสบเหตุความรุนแรงในครอบครัว ความผิดเกี่ยวกับเพศและภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยใช้เอไอให้คำปรึกษาแทนเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งต่อไปประชาชนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในโรงพัก แต่สามารถขอคำแนะนำจากแชตบอทได้ก่อน และเมื่อผู้ใช้ได้รับคำปรึกษาในเบื้องต้นแล้ว ถ้ามีรายละเอียดมากขึ้น และหากประสงค์จะขอรับคำปรึกษา นอกเหนือจากการโทร.สายด่วน ก็จะมีช่องทางขอรับความช่วยเหลือ เพื่อให้มีการประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำการช่วยเหลือต่อไป

“มายซิสบอท จึงเป็นเสมือนแพลตฟอร์มในการเชื่อมการทำงานระหว่างหน่วยงาน ในกระบวนการยุติธรรมเข้าด้วยกัน เช่น หน่วยงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อัยการ สหวิชาชีพที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองเด็กและสตรี เพื่อให้การทำงานเป็นระบบ ไม่ซ้ำซ้อน ด้วยแนวคิดในการนำนวัตกรรมทางดิจิทัลมาใช้ จึงเป็นโอกาสในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และเป็นโมเดลในการประสานการทำงานของทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนสำคัญ ในการขับเคลื่อนให้เกิดความยุติธรรม โดยหลักการทำงานที่ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง” ผบช.สอท.กล่าว

พล.ต.ท.กรไชย กล่าวด้วยว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้ความรู้ และคำแนะนำแก่ผู้หญิงและเด็ก ที่ประสบเหตุไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาทั้งหมด การที่จะให้เทคโนโลยี เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่ออำนวยความสะดวก ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงนั้น สิ่งสำคัญคือ การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน การสร้างภาคีเครือข่าย และทำงานร่วมกัน จะทำให้การพัฒนาระบบการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและยุติธรรมกับทุกฝ่าย




กำลังโหลดความคิดเห็น