xs
xsm
sm
md
lg

สสส.ผนึกกำลัง ยกระดับ “สิทธิ” และ “สุขภาวะ” แรงงานข้ามชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่หลายคนมักมองข้าม แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่มีส่วนเข้ามาขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แรงงานข้ามชาติก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญนั้นเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย มี 3 สัญชาติหลัก ได้แก่ เมียนมา ลาว และ กัมพูชา ซึ่งมีมากกว่า 4 ล้านคน แต่ยังมีอีกจำนวน 2 ล้านกว่าคนที่อยู่นอกระบบ โดยไม่มีกฎหมายคุ้มครอง รองรับ ส่งผลให้มีปัญหาทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ชั่วโมงการทำงานสิทธิสวัสดิการ รวมทั้งปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาตามมา

(นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร)
นายสุเทพ อู่อ้น ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติยังดูแลและคุ้มครองไม่ทั่วถึงทุกอาชีพ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานในภาคเกษตร โดยการร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ยังมีการเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญ ก่อนเสนอไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดันให้เกิดการร่างกฎหมายแบบจริงจังต่อไป

“จากการลงพื้นที่พบว่า แรงงานข้ามชาติในหลายๆ พื้นที่ได้มีการรวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงาน และเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายที่ชัดเจนมากขึ้น เราก็เห็นสมควรว่า เขาควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะที่เป็นแรงงานเช่นเดียวกับอีก 22 ล้านคนในระบบ ดังนั้น ในปี 2564 เราวางแผนไว้ว่า จะต้องมีกฎหมายเพื่อรองรับและดูแลแรงงานนอกระบบให้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่กำลังรีบดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องกลุ่มแรงงานข้ามชาติทโดยเร็วที่สุด” นายสุเทพ กล่าว


ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวถึงบทบาทในครั้งนี้ไว้ว่า สสส. เข้ามาสนับสนุนนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนในการสำรวจข้อมูลปัญหาด้านสุขภาพและสิทธิของแรงงานข้ามชาติจำนวนหลายโครงการ ค้นพบว่า ปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติสูงกว่าคนไทยโดยทั่วไป โดย 61% ไม่เข้าใจการติดเชื้อของโรคระบาดโควิด-19 และอีกจำนวนมากที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุภาพ ความเข้าใจเรื่องโภชนาการทั่วไป ส่วนนี้ สสส. จึงจำเป็นต้องมาหนุนเสริม สร้างความรู้ ส่งต่อความเข้าใจด้านสุขภาพ ผ่านกลไกสำคัญที่เรียกว่า “หลักสูตรอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว” หรือ “อสต.” ทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

“ตอนนี้ อสต. ได้เริ่มเข้าไปส่งเสริมอย่างเข้มข้นใน 4 จังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก เราเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นข้อต่อสำคัญ ระหว่างการส่งข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพจากภาครัฐ ไปสู่แรงงานข้ามชาติด้วยกันเองได้เป็นอย่างดี ซึ่ง สสส. คิดว่า การให้ความรู้ ความเข้าใจสำหรับแรงงานข้ามชาติในเรื่องสุขภาวะนั้น ยังถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น”

ทั้งนี้ นางภรณี ยังได้กล่าวถึงทิศทางการทำงานในอนาคตว่า สสส. จะเข้าไปสนับสนุนกระบวนการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ก่อนทำเป็นข้อเสนอนโยบายผ่านกรรมาธิการ และร่วมมือกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

(นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)
ด้าน นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานปัจจุบันยังมีช่องโหว่เรื่องการดูแลลูกจ้างชาวไทยและแรงงานข้ามชาติบางอาชีพ ที่เห็นชัดที่สุดคือ แรงงานกลุ่มเกษตรกรรมและทำงานบ้าน จึงเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ปี 2555 เพิ่มสิทธิ สวัสดิการดูแลแรงงานกลุ่มนี้ให้เท่าเทียมกับคนที่ทำอาชีพอื่น เพราะหากรอกฎหมายฉบับใหม่อาจจะใช้ระยะเวลานานเกินไป อาจกระทบต่อสุขภาวะของคนที่หาเช้ากินค่ำ และการปรับปรุงกฎกระทรวงช่วยเหลือแรงงานจะต้องมองลึกไปถึงอาชีพอื่นๆ และแรงงานทุกชาติ ไม่ใช่แค่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยที่ไม่เลือกปฏิบัติ

“ประเด็นที่เรากังวลที่สุดคือ ประเด็นด้านสุขภาพ เพราะแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษา เนื่องจากปัญหาด้านภาษา อีกทั้งบางกลุ่มก็ไม่เข้าระบบประกันสังคม เนื่องจากยังถือบัตรสุขภาพอยู่ ดังนั้น การร่วมมือกันในครั้งนี้ ก็เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้ลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ-นอกระบบกลุ่มนี้ ได้รับสิทธิสวัสดิอย่างถูกต้องและเท่าเทียมกับกลุ่มอาชีพอื่น” นายมนัส กล่าว


ด้าน นางจำปา ตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมา กล่าวว่า ตนทำอาชีพลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยมากว่า 28 ปี และปัจจุบันก็ยังอยู่นอกระบบ แม้ว่าอาชีพตนนั้นจะมีกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 คุ้มครองเรื่องวันหยุด แต่กลับไม่ครอบคลุมถึงชั่วโมงการทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานอื่นๆ เพราะฉะนั้น ตนจึงมองว่า ยังไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่สามารถเรียกร้องได้ เพราะนายจ้างก็ไม่ผิด เนื่องจากไม่มีกฎหมายมารองรับ

“ในฐานะที่เป็นแรงงานข้ามชาติ เรื่องที่เราอยากได้รับการผลักดันมากที่สุดนอกจากเรื่องค่าจ้าง ก็คือ เรื่องสุขภาพที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งภาษาก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการรักษา อย่างตนเองพูดได้ แต่อ่านและเขียนไม่ได้ เวลาป่วยก็เลือกวิธีการซื้อยากินเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ดังนั้น ในอนาคตจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแก้ไข และดูแลปัญหาตรงนี้ เพราะเราทำงานเหมือนกับคนไทย เราก็อยากจะได้ความเท่าเทียมเช่นเดียวกัน” นางจำปา กล่าว

แน่นอนว่า เป้าหมายในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนเพื่อให้แรงงานข้ามชาติ-นอกระบบได้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการเท่านั้น แต่รวมไปถึงเพื่อยกคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้กับกลุ่มแรงงาน ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น