xs
xsm
sm
md
lg

1 ปี “กัญชาอภัยภูเบศรโมเดล” ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ ผลิตภัณฑ์การแพทย์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กัญชาทางการแพทย์ นโยบายประชานิยม ที่ถูกกล่าวถึงมากเป็นอันดับต้นๆ ในขณะนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงกัญชายังจัดเป็นยาเสพติดทั้งในประเทศไทยและตามข้อกฏหมายสากล และอนุญาตให้เอามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยเท่านั้น เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนให้นำกัญชามาใช้เป็นยา จากงานวิจัยในปัจจุบันและประสบการณ์ของผู้คนที่นำกัญชามาใช้รักษาโรค โดยเฉพาะโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีคำตอบ




กัญชาอภัยภูเบศรโมเดล ต่อยอดองค์ความรู้เกษตรกร

ในเดือนมิถุนายน 2562 โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้ปลูกและผลิตยากัญชา จึงจัดทำโครงการ “กัญชาอภัยภูเบศรโมเดล” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตกร ผู้ประกอบการรายย่อย และสถาบันการแพทย์ที่สนใจทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยากัญชาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม โดยโรงพยาบาลได้ทำความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก วิสาหกิจชุมชนและ มหาวิทยาลัยต่างๆ

พญ.หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาภัยภูเบศร
พญ.หญิงโศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ ได้ตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทยและพยาบาล ดำเนินการศึกษาและวิจัยต่อยอดกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง จากการทำงานมากว่า 1 ปี เราพบว่า ปัจจุบันมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชานับหมื่นชิ้นทั่วโลก ดังนั้นการหาแนวทางที่จะใช้กัญชาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยในบริบทของประเทศไทย จึงเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลฯ คำนึงถึงเป็นอย่างแรก ด้วยข้อจำกัดทางกฏหมายที่กัญชายังอยู่ในบัญชียาเสพติดการลงไปทำโดยโดยไม่มีระบบควบคุมที่ดีพออาจนำมาซึ่งปัญหาที่แก้ยาก ดังนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยเรื่องการใช้ประโยชน์ โดยได้ลงมือปลูกกัญชาเอง และทำอย่างครบวงจร เพื่อให้รู้ว่ากัญชาจะจะใช้ประโยชน์อะไร กับผู้ป่วยกลุ่มไหน และการใช้ต้องมีความรู้อะไรทั้งในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน


กว่าจะมาเป็น “กัญชาทางการแพทย์ ” ของอภัยภูเบศร

ในส่วนต้นน้ำ คือ วัตถุดิบกัญชาที่มีคุณภาพ ด้วยความต้องการของผู้ป่วยในขณะนั้น ทางโรงพยาบาลจึงได้ทำงานร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการปราบรามยาเสพติด นำกัญชาของกลางที่ผ่านเกณฑ์คุณภาพมาสกัดด้วยเทคนิค supercritical fluid extraction โดยผลิตภัณฑ์ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ยาล๊อตแรกเดือนสิงหาคม 2562 ในขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับวิสาหกิจเพื่อสังคม มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ปลูกกัญชา 3 ระบบ ได้แก่ ระบบปิด กึ่งปิด และเปิด เพื่อศึกษาสภาวะการปลูก และความคุ้มค่า ในปัจจุบันเราพบว่าระบบปิดน่าจะไม่มีความคุ้มค่าสำหรับเกษตรกรประเทศไทย เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะต้องลงทุนโรงเรือนและวัสดุต่างๆในราคาสูง อีกทั้งระบบยังใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะนี้กำลังศึกษาการปลูกในสภาวะกลางแจ้ง หากประสบความสำเร็จก็จะลดต้นทุนการปลูกได้มาก


ในส่วนกลางน้ำ ได้พัฒนากระบวนการสกัด และผลิต ปัจจุบันเรามียา 4 ตำรับที่ได้รับอนุญาตให้ผลิต และกระจายไปในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เกือบ 300 แห่ง ได้แก่ ยาสารสกัด THC 1.7% (สั่งจ่ายโดยแพทย์แผนปัจจุบัน) ยาแคปซูลศุขไสยาศน์ (สั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทย) ยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 ชนิดรับประทาน และชนิดทาภายนอก (สั่งจ่ายโดยแพทย์แผนไทย)

ในส่วนปลายน้ำ เป็นการใช้ในผู้ป่วย เราเป็นโรงพยาบาลแรกของประเทศที่เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ต่อมาเมื่อมียากัญชาทางการแพทย์แผนไทย เราก็พัฒนาเป็นคลินิกกัญชาการแพทย์ผสมผสาน มีแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยทำงานด้วยกัน ในการส่งต่อผู้ป่วยของกันและกัน มีเภสัชกรคัดกรองผู้ป่วย ให้ยาและติดตามความปลอดภัยและผลการรักษา และพยาบาลมีหน้าที่ประเมินสัญญาณชีพและสนับสนุนการตรวจรักษาของแพทย์ 

ในส่วนปลายน้ำมีการประเมินผลการรักษาผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ และนำผลกลับมาพัฒนาคุณภาพการบริการ เช่น แพทย์แผนไทยร่วมกับเภสัชกรได้วิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ยาผงศุขไสยาศน์ที่เรารับมาจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำให้เกิดผลข้างเคียงทางเดินอาหารในผู้ป่วยสูงถึง 60% ดังนั้นเมื่อเราได้รับมอบหมายให้ผลิตยาตำรับนี้ เราจึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นแคปซูลเพื่อลดผลข้างเคียง จากการติดตามมการใช้อย่างเป็นระบบ เราพบว่า ยาสารสกัดกัญชา THC 1.7% มีแนวโน้มเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายกว่า 100 ราย และช่วยลดปวดในผู้ป่วยที่ปวดปลายประสาทที่ล้มเหลวจากการรักษามาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนยาศุขไสยาศน์มีผลเพิ่มคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยที่นอนไม่หลับมานานกว่า 1 เดือนและใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นแล้วไม่ได้ผล ในส่วนยากัญชาทั้ง 5 เราเพิ่งอบรมผู้สั่งใช้ยาเสร็จ คาดว่าภายในธันวาคมนี้จะมีโรงพยาบาล 100 แห่งที่ให้บริการยานี้

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร
หลักการใช้กัญชาอย่างไรให้ปลอดภัย

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร แกนนำหลักของคณะทำงาน กล่าวว่า ในฐานะที่ติดตามการใช้กัญชาของชาวบ้านมานาน ก็ได้เห็นว่าคนไทยสมัยก่อนรู้ว่าจะใช้กัญชาอย่างไรให้ปลอดภัย เช่น ใช้ใบที่มีสารเมา หรือ THCขนาดต่ำมากในการปรุงอาหาร ส่วนยาไทยหรือยาพื้นบ้านก็ใช้ดอกหรือใบแล้วแต่อาการหรือโรคของผู้ป่วย ดอกกัญชาที่คนโบราณใช้มักมีเมล็ดติดที่ดอกด้วยทำให้ปริมาณสารเมาไม่สูง คนทั่วไปรู้กันว่าถ้าใช้กระหลี่กัญชา หรือดอกเพศเมียที่ไม่ติดเม็ดจะมีความแรงมาก ต้องใช้ปริมาณไม่สูง

ทั้งนี้ ในตอนนี้สิ่งที่โรงพยาบาลทำตามนโยบายที่ท่านผู้อำนวยการให้มา คือ ผู้ป่วยเข้าถึงยาคุณภาพที่ปลอดภัย เกษตรกรปลูกได้คุ้มทุน และสังคมโดยรวมได้ประโยชน์ โดยเร่งให้ความรู้ที่ถูกต้องกับสังคม จากการทบทวนวรรณกรรมในต่างประเทศ พบว่า ไม่ว่าประเทศจะมีนโยบายกัญชาทางการแพทย์หรือทางสันทนาการ สิ่งสำคัญคือ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและกัญชาให้กับประชาชน ดังนั้นในปีที่ผ่านมาเราจัดอบรมให้ความรู้ด้านกัญชาให้กับประชาชนมีคนสนใจเข้าร่วมหลายร้อยคน ในส่วนเกษตรกรก็ได้รับงบประมาณจากอย. มาอบรม ปีนี้ก็วางแผนจะทำเรื่องการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปที่เหมาะสม


ทุกวันนี้เราทำงานแข่งกับเวลา ทำวิจัยคู่ขนานกับปฏิบัติจริง เพราะในทางปฏิบัติเรายังไม่เคยทำมาก่อน ได้แต่อ่านตำราต่างประเทศ ส่วนผู้ป่วยและเกษตรกรก็รอเราอยู่ อย่างที่เราได้รับมอบตำรับยาน้ำมันกัญชาพื้นบ้านจากเกาะเต่ามา เราก็ส่งทีมเภสัชกรและแพทย์แผนไทยลงไปประเมินตำรับ พบว่า เป็นตำรับที่น่าสนใจเพราะใช้ทุกส่วนของกัญชา ไม่ต้องทิ้ง อีกทั้งในรากกัญชาก็ไม่มีสารสเพติด มีสาร federlin ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดปวดที่ดี เราวิเคราะห์สารก็เห็นมีสารหลายชนิดที่น่าจะออกฤทธิ์เสริมกัน เราจึงค้นคว้าและทำข้อมูลเสนอให้คณะกรรมการยาเสพติดจนได้อนุมัติ


สรุปบทเรียน 1 ปี กัญชาอภัยภูเบศร

บทเรียนจากการทำงาน1 ปี เราได้เรียนรู้ว่า ยากัญชา ไม่ได้น่ากลัว ก็เป็นยาใหม่เหมือนที่เราใช้กันในระบบสุขภาพ เราติดตามความปลอดภัยในคลินิกไม่มีทำให้เสียชีวิตหรือพิการ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น ทำให้ปากแห้ง คอแห้ง วิงเวียน และสัมพันธ์กับขนาดยา เมื่อใช้ยาขนาดสูงๆ ก็เกิดผลข้างเคียงได้มาก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนยาได้ เมื่อใช้ไปสักพักร่างกายจะปรับตัว ส่วนประสิทธิผลนั้นเราเห็นแนวโน้มและกำลังจะทำวิจัยศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังต่อไป ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องยกระดับทั้งห่วงโซ่ และทำแบบบูรณาการ อย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันข้อกฏหมายก็คงต้องเปิดให้เราได้ใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชงมากขึ้น




เป้าหมาย กัญชาอภัยภูเบศร ในปี 2564

พญ.โศรยา กล่าวว่า แผนงานที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจะดำเนินการในปี 2564 คือ ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พัฒนา chatbot เพื่อให้ผู้ป่วย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และเกษตรกร สามารถเข้าถึงข้อมูลกัญชาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว โดยแบ่งเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการ เพื่อให้นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และฐานข้อมูลสำหรับเกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ อย. อบรมเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อรองรับกฎหมายฉบับใหม่ พร้อมทำคู่มือการปลูก เก็บเกี่ยวและแปรรูปกัญชาเบื้องต้น รวมถึงพัฒนาหลักฐานทางวิชาการที่หลากหลาย ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลัง การวิจัยทางคลินิกแบบควบคุมตัวแปร เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้ โดยจะระบุทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อให้รู้ข้อจำกัดของการใช้ นำไปสู่การใช้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ก็จะร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ พัฒนาแนวทางการเก็บข้อมูลยาศุขไสยาศน์และยาน้ำมันกัญชาทั้ง 5 เพื่อเสนอต่อคณะผู้เชี่ยวชาญสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่ การพัฒนาหลักฐานเพื่อผลักดันเข้าสู่ยาหลักแห่งชาติ


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager





กำลังโหลดความคิดเห็น