ช่วงที่การเมืองร้อนแรง ความขัดแย้งระหว่างรุ่นปะทุ ความสัมพันธ์ในครอบครัวจำนวนมากต้องสั่นคลอน ความต่างทางความคิดทำให้เพื่อนต้องหมางเมินหรือตัดสัมพันธ์ ดิฉันเขียนบทความที่ต้องการสะท้อนในมุมมองของครอบครัวผ่านคอลัมน์นี้ ที่ผ่านมาเจ้าลูกชายคนโต “สรวง สิทธิสมาน” มักอยู่ร่วมในเหตุการณ์ทั้งเรื่องจริงผ่านคนและงานเขียน ได้รับรู้ถึงผลกระทบที่สะท้อนย้อนกลับมาถึงแม่ จนทำให้เกิดงานเขียนชิ้นนี้ขึ้นมา!
…………
เมื่อไม่นานมานี้ ผมเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งเรื่อง “การเมืองในครอบครัว” พยายามตอบคำถาม และอธิบายกลไกการอยู่ร่วมกันในครอบครัวของเราบนความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง วันนี้มีเรื่องสะกิดใจอยากจะขยายความเพิ่มเติมจากที่เคยเขียนเล่าไปแล้วสักเล็กน้อย
ก่อนอื่นขอบอกว่าความคิดเห็นต่างทางการเมืองในครอบครัวเรานี่ดูจากภายนอกก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน พ่อแม่ลูกสี่คนไม่มีใครตัดสินใจทางการเมืองตรงกันเลยสักคนเดียว ตอนไปเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็เลือกกันคนละพรรค สี่คนก็สี่พรรค แต่เราก็พูดคุยบอกเล่าแลกเปลี่ยนเหตุผลของกันและกันอย่างเป็นปกติเหมือนเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครโน้มน้าวใครให้ต้องตัดสินใจเหมือนกัน ไม่มีการชี้ถูกชี้ผิด ความต่างที่เกิดขึ้นก็เลยเหมือนความไม่ต่าง
ในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองดูจะไม่ใช่แค่ความขัดแย้งทางการเมืองโดยทั่วไปตามปกติ หากแต่มีลักษณะเป็นความขัดแย้งระหว่างรุ่นอายุ ระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก คุณแม่ได้เขียนบทความขึ้นมาชิ้นหนึ่งเรื่อง “ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมือง” ลงในคอลัมน์ประจำ “พ่อแม่ลูกปลูกรัก” พูดถึงคำว่า Empathy ในมุมมองของทักษะทางสังคม ที่มีความหมายว่าความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ว่าอาจเป็นทักษะที่จำเป็นและสำคัญยิ่งเมื่อหลายครอบครัวกำลังแตกหักเพราะเห็นต่างกันเรื่องการเมือง
สาเหตุที่คุณแม่เขียนบทความเรื่องนั้นเป็นช่วงที่สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเริ่มเดือดขึ้น ๆ แม้จะยังไม่เท่าทุกวันนี้ มีสายโทรศัพท์เรียกเข้ามาพอสมควรในมือถือของคุณแม่ ส่วนใหญ่จะเป็นสายจากกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่กำลังเดือดร้อนและไม่รู้จะรับมือกับความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังลามไหลเข้าสู่ครอบครัวอย่างรวดเร็วจนหลายคนปรับตัวไม่ทัน ประเด็นหลักที่ผู้ปกครองเหล่านั้นเล่ามาคือพฤติกรรมของลูกเปลี่ยนไปเหมือนเป็นคนละคน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่เหมือนเดิม ไม่รับฟังเหตุผลของพ่อแม่เลย ไม่รู้จะหาวิธีสื่อสารกันอย่างไรต่อไป
นอกจากนั้นก็เรื่องพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกไปม็อบ เพราะเป็นห่วง กลัวลูกที่รักจะได้รับอันตราย แต่ก็ไม่รู้จะพูดกับลูกอย่างไรเช่นกัน เพราะลูกวัยรุ่นหนุ่มสาวต่างก็มีเจตจำนงที่แน่วแน่ ชัดเจน แต่การแสดงออกของพวกเขาก็ทำให้คนเป็นพ่อแม่ไม่สบายใจมากเช่นกัน
วันหนึ่งถึงขั้นมีคุณแม่ท่านหนึ่งขับรถมาหาคุณแม่ของผมถึงที่บ้าน มาถึงก็ร้องห่มร้องไห้ ระบายความอึดอัดภายในใจ พร้อมทั้งปรึกษาเพื่อค้นหาแนวทางการสื่อสารที่จะได้ผล และลดอุณหภูมิความขัดแย้งในครอบครัว พูดคุยหาทางออก พบกันตรงกลางให้ได้
คุณแม่ได้ให้คำแนะนำกับกรณีดังกล่าวไปประมาณว่า - คุณก็ขับรถพาลูกไปส่งที่ม็อบเองเลย และกำหนดเวลากลับบ้านให้ชัดเจน ถึงเวลาคุณก็ไปเจอกันที่จุดนัดพบ และรับเขากลับบ้าน จะได้วินวิน แม่ก็ได้จับตาดูอยู่ห่าง ๆ ลูกก็ได้ไปแสดงออกทางการเมือง....
เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้คุณแม่รู้สึกสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย เพราะหลายครอบครัวกำลังก้าวสู่จุดแตกหักกันอย่างจริงจัง ร้ายแรงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย คุณแม่ทำงานอยู่ในวงการสื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัวมาตลอด 20 กว่าปี ย่อมมีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์นี้มากยิ่งกว่าใครในครอบครัว
ผมได้ยินคำว่า Empathy ออกมาจากปากของคุณแม่ในวันนั้น และต่อมาก็เกิดเป็นบทความที่ชื่อว่า “ครอบครัวสะบั้นเพราะการเมือง” ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ที่คำว่า Empathy นั่นแหละ โดยคุณแม่ได้เสนอตัวอย่างของแนวทางการสื่อสารกับลูกไปหลายประการ
เท่าที่ผมตีความ จุดประสงค์ของบทความก็มิใช่อื่นใดนอกจากการให้กำลังใจผู้ที่กำลังทุกข์ทนกับความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว และรับมือด้วยวิธีการประนีประนอม เห็นอกเห็นใจ หรือ Empathetic ถอยกันคนละก้าวเพื่อทำความเข้าใจ Pain Point ของแต่ละฝ่าย ค่อย ๆ ปรับเข้าหากัน
ข้อนี้ผมเห็นด้วยนะครับ พ่อแม่ควรเข้าใจว่าเยาวชนต้องการที่จะสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง ในขณะที่เยาวชนก็ต้องเข้าใจเช่นกันว่าความรักความเป็นห่วงจากคนเป็นพ่อแม่มันอาจจะมากจนทำให้ท่านเครียดจัดได้เมื่อรู้ว่าลูกกำลังเอาตัวเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่อาจเสี่ยงต่ออันตราย
อย่างไรก็ดี คำว่า Empathy นั้นสามารถตีความได้หลายรูปแบบ บางคนอาจสงสัยในขอบเขตของคำ ๆ นี้ มองว่าไม่ควรมี Empathy หรือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเฉพาะแต่ในครอบครัว แต่ควรแผ่ขยายไปถึงทุกคนในสังคม ทั้งผู้ยากไร้ เหยื่อของระบบสังคมต่าง ๆ รวมไปถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากการต่อสู้ทางการเมืองด้วย
ซึ่งก็ต้องบอกให้ชัดเจนครับ ว่า Empathy ที่คุณแม่พูดถึงนั้น อยู่ในบทความจากคอลัมน์ที่ชื่อว่า “พ่อแม่ลูกปลูกรัก” เรื่องขอบเขตคงไม่ต้องพูดให้มากความครับ
ประเด็นที่ผมอยากจะนำมาเสนอแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า Empathy คือคำว่า Hyper-Empathy ครับ
คำว่า Hyper-Empathy มีลักษณะคล้ายกับคำว่า Sympathy ที่แปลว่าความเห็นอกเห็นใจ หรือสงสาร ซึ่งต่างจากคำว่า Empathy ที่แปลว่าความสามารถในการเข้าใจความรู้สึก
“เข้าใจ” กับ “เห็นใจ” ถือว่าเป็นคำที่ใกล้เคียงกันครับ ความต่างกันคงจะอยู่ที่ระดับของความรู้สึก
แต่สำหรับคำว่า Hyper-Empathy นั้นมีความหมายที่ต่างออกไป กล่าวคือ Hyper-Empathy ก็คือ Empathy ที่ไม่ได้อยู่ในระดับพอดี คือความเห็นอกเห็นใจแบบเกินความจำเป็นนั่นเอง อธิบายง่าย ๆ คือ ไม่ใช่แค่เข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น แต่รับรู้และได้รับผลกระทบจากความรู้สึกของผู้อื่นด้วย
อาการเข้าอกเข้าใจผู้คนมาก หรือกระทั่งมากเกินไปนั้น เหมือนเป็นการทำให้ตัวเองกลายเป็นภาชนะที่รองรับอารมณ์ทุกอย่างรอบตัว และลงท้ายด้วยการสูญเสียตนเองให้กับความต้องการของผู้อื่น ทำร้ายตนเองด้วยความรู้สึกร่วมที่มากเกินไป กล่าวคือ “อิน” กับความความโศกเศร้า ความสูญเสีย ความอยุติธรรม และอาจจะรวมถึงความโกรธแค้นของผู้อื่นจนมันกลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเอง จนบางครั้งอาจแปรไปเป็นความโกรธแค้นผู้คนอื่น ๆ ในสังคมที่เขาไม่ได้แสดงออกซึ่งความรู้สึกเหมือนตัวเอง
สำหรับช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งครั้งใหญ่ของสังคมเช่นนี้ การมี Empathy นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะระหว่างคนในครอบครัว แต่ก็ต้องระวังครับ เพราะ Empathy ที่ไม่พอดีอาจนำไปสู่ความรู้สึกเกลียดชัง การที่เรารู้สึกร่วมกับบางสิ่งมากเกินไป อาจทำให้เรามองข้ามเหตุผลอื่น ๆ ของคนรอบตัว และเสมือนหลับหูหลับตายึดติดอยู่กับความรู้สึกร่วมที่อาจจะเกินจำเป็นนั้น ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิมได้
ความรู้สึกเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่กระนั้นก็จำเป็นที่จะต้องรู้วิธีจัดการ มิเช่นนั้น เราอาจตกอยู่ในกับดักของความรู้สึก และพลาดท่าให้กับกับดักของ Empathy ได้