xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โชว์แล็บไทยสู้ COVID-19 เตรียมห้องปฏิบัติการพร้อมรับมาตรการ “เปิดประเทศ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย เตรียมพร้อมห้องแล็บ 237 แห่งทั่วประเทศ ตามนโยบาย “1 แล็บ 1 จังหวัด 100 ห้องปฏิบัติการ” รายงานผลใน 1 วัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาโรคโควิด-19 รับมาตรการเปิดประเทศ

วันนี้ (13 พ.ย.) นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัย ด้วยเทคนิค Real-time RT PCR ซึ่งเป็นวิธีตรวจ มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ พร้อมทั้งดําเนินงานตามนโยบาย “1 แล็บ 1 จังหวัด 100 ห้องปฏิบัติการ” รายงานผลใน 1 วัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาโรคโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองแล้ว 237 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมเกือบทุกจังหวัด สามารถรองรับการตรวจได้มากกว่า 20,000 ตัวอย่างต่อวัน (แบ่งเป็นศักยภาพการตรวจในกรุงเทพมหานคร 10,000 ตัวอย่างต่อวัน และศักยภาพการตรวจในต่างจังหวัด 10,000 ตัวอย่างต่อวัน หรือ 835 ตัวอย่างต่อเขตสุขภาพ) ปัจจุบันมี จํานวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจสะสมประมาณ 1,217,873 ตัวอย่าง

นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสยามไบโอไซเอนซ์ ร่วมวิจัยพัฒนาและผลิตชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธี Real-time RT-PCR สนับสนุนการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อให้รวดเร็วและทั่วถึง สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทย มีแหล่งผลิตชุดน้ํายาภายในประเทศ เพื่อการให้บริการตรวจคนไทย ตลอดจนสนับสนุนการคัดกรองเพื่อกักกันในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการควบคุมและป้องกันโรคภายในประเทศ ทําให้ประเทศไทยมีชุดน้ํายาตรวจ Real-time RT-PCR สําหรับโควิด-19 รองรับไปตลอด ช่วงระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 มีการสํารองชุดน้ำยาตรวจไว้ใช้กว่า 700,000 ตัวอย่าง

ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาชุดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ SARS-CoV-2 ทั้งชนิด IgM และ IgG เพื่อรองรับการระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้หลักการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา ด้วยวิธีอิมมูโน โครมาโตกราฟี ชนิดอ่านผลด้วยตาเปล่าจากตัวอย่างซีรัมพลาสมาและเลือดจากปลายนิ้ว ซึ่งชุดตรวจนี้เป็นการตรวจคัดกรองเท่านั้น และจะให้ผลที่มีความแม่นยําในกรณีที่ใช้กับตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อมากว่า 15 วัน ทั้งนี้ การทดสอบและการแปรผลต้องทําโดยบุคลากรทางการแพทย์และควรตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสร่วมกับ ระดับแอนติบอดีเพื่อเพิ่มความไว ความจําเพาะและความแม่นยําในการวินิจฉัยโรคโควิด-19

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปนเปื้อนในบรรจุภัณฑ์และอาหาร และพร้อมให้บริการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณเดือนธันวาคม 2563 ในตัวอย่างทุเรียนแช่แข็งและบรรจุภัณฑ์ในราคา 7,000 บาท/ตัวอย่าง ใช้ระยะเวลาการตรวจประมาณ 3 วันทําการ เนื่องจากทุเรียนเป็นสินค้าส่งออกสําคัญที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยอย่างมาก เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ส่วนอาหารทะเลแช่แข็งชนิดอื่นๆ ขณะนี้อยู่ใน กระบวนการทดสอบความใช้ได้ของวิธี ซึ่งจะเปิดให้บริการในลําดับต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น