เพจดังต่างออกมาให้ความรู้ หลังพบมีการขายชุดตรวจเทสต์โควิด-19 ในโลกออนไลน์มากมาย ยืนยันต้องใช้ตรวจในสถานพยาบาล หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ เท่านั้น แถมผลการตรวจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
วันนี้ (28 มี.ค.) “หมอแล็บแพนด้า” ออกมาให้ความรู้หลังพบว่า มีชาวเน็ตออกมาขายชุดตรวจเทสต์โควิด-19 กันอย่างแพร่หลาย โดยได้ให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “ความบรรลัยของบ้านเมืองเราเกิดขึ้นแล้ว
1. ขายชุดตรวจทางการแพทย์อย่างโจ๋งครึ่มในโลกออนไลน์ ขายตัดราคากันยังกับขายเสื้อผ้า อย่าบอกว่าท่านสำรวจแล้วไม่พบคนขายนะ
2. ชุดตรวจโควิดพวกนี้ต้องตรวจในสถานพยาบาล หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่ไอ้จ๊อดแถวบ้านผมซื้อมาเจาะตรวจเอง
3. ชุดตรวจพวกนี้ผลการตรวจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่างเช่น บางคนเป็นโควิดแต่ตรวจออกมาแล้วไม่เป็นโรคก็มี พอคิดว่าตัวเองปลอดภัยก็อาจทำตัวตามปกติ เอาเชื้อไปติดคนอื่นต่อได้
หรือบางคนไม่เป็นโควิด แต่ชุดตรวจพวกนี้อาจจะบอกว่าเป็นโรคก็ได้ พากันแห่ไปโรงพยาบาลมั่วไปหมด
4. ใครพบเห็นการขายของพวกนี้ หรือพบเจอคลิปการเจาะกันเอง ส่งมาในเมนต์ เผื่อผู้ใหญ่ตรวจไม่พบอีก ผมจะได้เอาคอมเมนต์ใต้โพสต์นี้ไปโชว์
5. ต่อให้ สธ.ประกาศว่า ชุดตรวจนี้ผ่านการประเมินแล้ว ก็ไม่ใช่หมายความว่า ยายสมศรีที่ขายของอยู่ตลาดวัดยายร่ม จะหาซื้อมาเจาะเอง แปลผลเอง “เพราะยายสมศรีแกไม่ได้จบเทคนิคการแพทย์”
วันนี้ (28 มี.ค.) โดยก่อนหน้านี้ เพจ “หมอดึ๋งแฟมเมด” ได้ออกมาวาดการ์ตูนเพื่ออธิบายการใช้อย่างง่ายๆ โดยระบุเนื้อหาโพสต์ว่า “ชุด Rapid test” กำลังมา และก็มีหลายคำถามว่าทำไมไม่ยอมให้ตรวจถ้าไม่มีอาการ ในนี้มีคำตอบ ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากอยู่พอสมควร ใครขี้เกียจอ่านและทำความเข้าใจ กรุณาข้ามไปหน้าสุดท้าย แล้วหมอจะนั่งวาดอยู่ตั้งนานทำไม แต่ถ้าใครพอจะมีเวลา ก็ค่อยๆ อ่านและทำความเข้าใจไปนะครับ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจ เคยให้ความรู้ไว้ว่า “ชุดตรวจ Rapid Test ซึ่งเป็นประเด็นที่คนสงสัยมาก แปลตรงตัวคือการตรวจแบบเร็ว บางแห่งใช้เวลา 5 นาที หรือ 15 นาที โดยชุดตรวจ Rapid Test ที่เป็นข่าวตอนนี้ คือ “การตรวจหาภูมิคุ้มกัน” เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไป จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากรับเชื้อประมาณ 5-7 วัน ฉะนั้น การตรวจแบบนี้จะได้ผลเป็นบวกหรือลบ ต้องตรวจหลังรับเชื้อ 5-10 วันขึ้นไป กว่าจะรู้ผลยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ต้องใช้เวลากว่า 10 วัน ที่สำคัญหากไปตรวจหลังเสี่ยงรับเชื้อวันที่ 1 หรือ 3 เมื่อได้ผลเป็นลบก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้น การตรวจด้วยอุปกรณ์นี้ช่วงเวลาการตรวจจึงมีความสำคัญ ส่วนที่เร็วคือขั้นตอนการตรวจใช้เวลาแค่ 5 นาทีเสร็จ แต่ในแง่ของการวินิจฉัยโรคถือว่าช้า จึงกล่าวได้ว่า “เร็วตอนตรวจแต่วินิจฉัยโรคได้ช้า”