เชื้อ "RSV” ภัยร้ายปลายฝนต้นหนาว! แพทย์แนะ “นมแม่” ส่งต่อภูมิคุ้มกัน เลี่ยงสัมผัส กอด-จูบ เหตุเเพร่เชื้อคล้ายโควิด ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน
RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายจากคนสู่คนโดยผ่านทางละอองฝอยขนาดใหญ่ (droplet), ผ่านทางการสัมผัส(contact) การติดต่อมักเกิดจากการสัมผัสจะมือไปที่ตาหรือจมูก ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่างทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก
ไวรัสสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ประมาณ 24 ชั่วโมง ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเนื่องจากมักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงปลายฝนต้นหนาว
พญ.ณัชชา สากระจาย กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินหายใจเด็ก รพ.พริ้นซ์ อุบลราชธานี กล่าวว่า วิธีการติดเชื้อคล้ายโควิด และก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันด้วย วิธีการที่ดีที่สุดอยู่ที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัส
ผู้ที่ติดเชื้อ RSV จะมีการปล่อยเชื้อไวรัสออกจากสารคัดหลั่งประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ที่ได้รับเชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายมันจะมีระยะฟักตัว 3 ถึง 5 วัน ก่อนเริ่มแสดงอาการของระบบทางเดินหายใจ คล้ายกับไข้หวัดธรรมดาเลย
• เช็คอาการลูกน้อย! 3 ช่วงวัยที่บ่งบอกว่าโดนเชื้อไวรัส RSV เล่นงานแล้ว
พญ.ณัชชา กล่าวว่า ปกติอาการแสดงทางคลินิกของผู้ป่วยติดเชื้อ RSV มีความแตกต่างกันไปตามวัย หากเกิดในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่ในกรณีเด็กเล็กๆ ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุประมาณ 3-5 ขวบ ซึ่งแสดงอาการต่างกันตามช่วงวัยของเด็กเล็ก ดังนี้
1. กรณีทารกคลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงเดือนแรก
จะมีอาการดูดนมน้อยลง ซึมลง บางรายมีอาการหยุดหายใจ บางรายอาจมีอาการคล้ายการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
2. กรณีเด็กช่วง 2 ขวบปีแรก
มักเริ่มจากอาการไข้ต่ำๆ น้ำมูก จาม นำมาก่อน 1 ถึง 3 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไอ หายใจเร็วขึ้น หายใจลำบาก เด็กบางรายมีการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ภาวะหลอดลมฝอย หรือหลอดลมส่วนปลายอักเสบ(Bronchiolitis) หากเชื้อลุกลามไปยังถุงลมจะเกิดภาวะปอดอักเสบได้ (pneumonia)
3. เด็กอายุ 2 ถึง 5 ปี
นอกจากเชื้อ RSV จะทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างแล้ว ยังทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน และเกิดกลุ่มอาการ Croup (การอักเสบของกล่องเสียงและทางเดินหายใจส่วนบน) ได้
• วินิจฉัยผู้ติดเชื้อ RSV ได้วิธีไหนบ้าง
1. การตรวจทางไวรัสวิทยา ได้แก่
-วิธี rapid antigen detection ตรวจโดยการป้ายจมูก
-real time PCR
-การเพาะเชื้อ (ไม่นิยมใช้ในทางเวชปฏิบัติ)
2. ภาพถ่ายรังสีปอด
• รักษาตามอาการ เหตุยังไม่มียารักษา! แต่ป้องกันลูกน้อยได้ด้วยนมแม่-งดหอมจูบเด็ก
พญ.ณัชชา กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ RSV เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอขับเสมหะ ยาลดน้ำมูก โดยเน้นการดูแลระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ สำหรับการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนในเด็กวัย 6-24 เดือน อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา(ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค)
ขณะเดียวกันแพทย์แนะคุณพ่อคุณแม่ การป้องกันลูกน้อยด้วยการให้นมแม่ “นมแม่” ช่วยป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อ RSV ชนิดรุนแรงได้ในช่วงวัยทารก นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันจากมารดา anti-RSV IgG ที่ส่งผ่านมาทางรกช่วยลดการติดเชื้อ RSV ในทารกช่วง 4 เดือนแรกของชีวิตได้
ผู้ปกครองที่มีลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นรอบข้าง ถ้าลูกเริ่มเข้าเนอสเซอรี่หรือโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ ขณะเดียวกันควรแยกเด็กป่วยและของใช้ของเด็กป่วย ออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
นอกจากนี้ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนจับหรือดูแลเด็ก หลีกเลี่ยงการจูบหรือหอมเด็กเพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันหากมีการสัมผัสผู้ป่วย ดูแลบุตรหลานให้อยู่ห่างผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อ และไม่นำบุตรหลานไปในที่ชุมชนสถานที่ที่มีคนเยอะก็จะสามารถหลีกเลี่ยงโอกาสสัมผัสโรคนี้ได้
ทั้งนี้ หากผู้ปกครองกังวลบุตรหลานเข้าข่ายเจ็บป่วยโรคดังกล่าว สามารถเข้าพบกุมารแพทย์ คลินิกกุมารเวช ซึ่งเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงในเครือรพ.พริ้นซ์หลายแห่ง ทั้งที่ รพ.พริ้นซ์ อุบลราชธานี, รพ.พริ้นซ์ ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์, รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ, พิษณุเวช อุตรดิตถ์, พิษณุเวช พิจิตร ฯลฯ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.princhealth.com