เมื่อวันที่ 14 ต.ค. เวลา 08.30 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย รศ.นราพร จันทร์โอชา ภริยา และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกิจกรรม “VALAYA จิตอาสาปณิธานความดี ทำดีเริ่มได้ที่ใจเรา” เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยนายกรัฐมนตรี และ ครม.ได้ร่วมรับฟังบรรยายศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา จาก ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ จากนั้นได้เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ต่างๆ โดยฐานที่ 1 ภูมิพลังแผ่นดิน ซึ่งนายกฯ และ ครม. ได้ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม “VALAYA จิตอาสาปณิธานความดี ทำดีเริ่มได้ที่ใจเรา” พร้อมกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
จากฐานที่ 1 นายกฯ พร้อมคณะเดินทางไป ฐานที่ 2 อุทกธารอาหารเพื่อชุมชน ร่วมกิจกรรมมัจฉาร่าเริง ปล่อยปลา และให้อาหารปลา ร่วมกิจกรรม ลูกอมปลาอารมณ์ดี กิจกรรมผักน้อยลอยน้ำ ปลูกพืชน้ำ เพื่อแหล่งอาหารของมนุษย์ ชุมชน กิจกรรมหว่านข้าวในนาสาธิต โดยมีนักศึกษาจิตอาสาเข้าร่วมด้วย จากนั้นไปเยี่ยมชมฐานที่ 3 ความมั่นคงด้านอาหารเกษตร ทฤษฎีใหม่ ร่วมกิจกรรมอากาศดี ปลูกผักเกษตรคนเมือง ชมกิจกรรมปลารับแขก ชมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” พร้อมชมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning โดยนายกฯได้ร่วมกิจกรรมกับนักเรียนของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ชมผลงานนวัตกรรมจากการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งนายกฯให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมชม
จากนั้น นายกฯพร้อมคณะ เยี่ยมชมฐานที่ 4 วิถีไทยร่วมสมัย เยี่ยมชมวิถีประชารัฐ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ชมผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยร่วมพัฒนา นอกจากนี้ ยังร่วมกิจกรรม พันธุ์กล้าจากพ่อ แจกพันธุ์พืชผัก น้ำหมักชีวภาพ และน้ำยาล้างจานให้ประชาชน 50 ครัวเรือน ร่วมปลูกต้นราชพฤกษ์ ชมบ้านชีววิถี การปลูกผักปลอดสาร และร่วมกิจกรรมครัวเรือนพอเพียง เรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์ครัวเรือน และทำน้ำยาล้างจานร่วมกับนักศึกษา
ผศ.ดร.สุพจน์ กล่าวว่า นายกฯให้ความสนใจ ให้เวลากับเด็กในการชมผลงานนวัตกรรมของเด็กๆ มาก โดยนายกฯได้ ชื่นชม ว่า สิ่งที่เด็กทำอยากให้เด็กได้เรียนรู้ลึกๆ อย่างที่ทำอยู่นี้ การสอนแบบ Active learning เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ไม่ใช่สอนแต่ในตำรา ต้องให้เด็กลงมือปฏิบัติเพื่อที่เด็กจะได้ซาบซึ้งและเห็นคุณค่าจริง ๆ รวมถึงนายณัฏฐพล และ คุณหญิงกัลยา ก็ยอมรับว่าเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมอยู่ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะเดินหน้าขยายผลให้โรงเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกได้มาเรียนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active learning ของโรงเรียนสาธิตราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ให้สามารถพัฒนาสื่อการสอน พัฒนาแผนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง และสามารถนำไปใช้ได้จริง