เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยพืชเสพติด (พืชกระท่อม และ กัญชง) โดยมี พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงษ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธาน พร้อมด้วยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา และหน่วยงาน ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ พืชกระท่อม และกัญชงในมิติต่าง ๆ กว่า 120 ราย อาทิ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้ดำเนินงานวิจัยเรื่องพืชกระท่อมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545, รศ.ดร. วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษของภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
พ.ต.ท. ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า “รัฐบาลมีแนวทางการปรับเปลี่ยนนโยบายพืชเสพติด โดยให้มีการศึกษาวิจัยพืชเสพติด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องมีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม และต้องไม่มีผลกระทบต่อสังคม สำนักงาน ป.ป.ส. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลนโยบายด้านยาเสพติดจึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องมีความเข้าใจต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพืชเสพติด และทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยพืชเสพติด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้การดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในขณะเดียวกันการเปิดเวทีเพื่อรับฟัง ระดม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญต่อการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนโยบายพืชเสพติดของประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ในการจัดทำกรอบและแผนแม่บทการขับเคลื่อนงานวิจัยพืชกระท่อมของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน พืชเสพติดที่ภาครัฐต้องการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์และสำนักงาน ป.ป.ส. นำมาเป็นหัวข้อในการประชุมครั้งนี้ มี 2 ชนิด คือ พืชกระท่อม และ กัญชง ในส่วนของพืชกระท่อม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามนโยบายไปแล้วคือ 1) การผ่อนปรน โดยมีความพยายามผ่อนปรนในพื้นที่นำร่องที่เตรียมได้รับอนุญาตให้บริโภค และครอบครองพืชกระท่อมได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งได้กำหนดพื้นที่ไว้ 135 หมู่บ้าน/ชุมชน และทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ได้ลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับผู้แทนชุมชนหมู่บ้านในการกำหนดขั้นตอนเพื่อเตรียมความพร้อม มีการกำหนดธรรมนูญหมู่บ้าน การจัดทำแผนดำเนินการ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการในส่วนพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว 2) คือ การปลดล็อคกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ขณะนี้ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฏีกาแล้ว รอการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ในส่วนของกัญชง ได้มีการออกกฎกระทรวงอนุญาตให้ครอบครองและผลิต เมื่อปี พ.ศ. 2561 ซึ่งในเชิงปฏิบัติอาจจะมีการติดขัดอยู่บ้าง จึงได้มีความคิดที่จะปรับปรุงกฎกระทรวงเพื่อเอื้อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ด้านนายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต ที่ปรึกษา สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวเสริมว่า การจะพัฒนาการใช้ประโยชน์ พืชเสพติด ให้รวดเร็วและได้ประโยชน์สูงสุดจำเป็นต้องมีแผนการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ การศึกษาวิจัย การควบคุมทางกฎหมาย การพัฒนาทางการแพทย์ การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ จะนำเสนอมุมมอง ความเห็น ข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ อันจะเป็นแนวทาง ประโยชน์ ข้อมูลในการกำหนดทิศทาง และแผนการขับเคลื่อนงานด้านพืชเสพติด ของประเทศไทย
ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สามารถแจ้งเบาะแสยาเสพติด ได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง