xs
xsm
sm
md
lg

ความไม่สมบูรณ์ของครอบครัวคือความสมบูรณ์!/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ตัวเลขจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เป็นประเทศที่สองของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และอีก 20 ปีข้างหน้า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงวัย และผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3,500,000 คน

การก้าวขึ้นสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาหนักที่เผชิญควบคู่ไปด้วย ก็คือ ประชากรในชาติไม่ต้องการมีลูก หรือมีลูกน้อยลง รัฐบาลนั้น ๆ จึงมีนโยบายกระตุ้นให้คนในชาติมีลูก เป็นการส่งเสริมคนในชาติ เพื่อให้เกิดสังคมที่สมดุลในชาติ

ในระดับครอบครัวที่มีลูกน้อยลงก็มีความพยายามที่อยากจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด และมีความปรารถนาอยากสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์

และคำว่าครอบครัวที่สมบูรณ์นี่แหละที่กลายเป็นประเด็นที่สร้าง “ความคาดหวัง” และมักตามมาด้วย “ความกดดัน” ทั้งตัวเองและลูก

ตอนช่วงวัยทารก อยากให้ลูกมีพัฒนาการรอบด้าน นั่ง คืบ คลาน ยืน เดิน พูด ฯลฯ แต่ต้องเป็นไปด้วยความเร็ว เก่ง หรือเด่น แค่พัฒนาการปกติตามวัยดูเหมือนจะไม่เพียงพอ

เมื่อเข้าสู่วัยเรียน อยากให้ลูกเรียนเก่ง อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนชื่อดัง อยากให้มีความสามารถพิเศษ ต้องเรียนห้องพิเศษ ห้องกิ๊ฟเต็ด หรือเสริมการเรียนพิเศษกันอุตลุต แค่เรียนดีอย่างเดียวเริ่มไม่พอ ต้องเรียนเก่งและแข่งขันได้รางวัลด้วย

พอเข้าสู่วัยรุ่น อยากให้ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ได้เข้าเรียนคณะดีๆ เพื่อจะได้ประกอบอาชีพที่พ่อแม่คิดว่าน่าจะดีสำหรับลูก

พอลูกเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อยากให้ลูกทำงานที่ดี บริษัทมั่นคง มีชื่อเสียง มีเงินเดือนสูง ๆ

และเมื่อลูกเข้าสู่วัยที่พร้อมจะสร้างครอบครัว ก็อยากให้ลูกมีคู่ครองที่ดี มีฐานะมั่นคง มีเงินทองมั่งคั่ง และเมื่อมีลูก ก็อยากให้หลานได้ดี

อยากให้…ฯลฯ

วงจรของความคาดหวังของคนเป็นพ่อแม่แทบจะไม่เคยสิ้นสุด..!!

ทีนี้ถ้าเราแปรเปลี่ยนความคาดหวังในตัวลูกให้กลายมาเป็นการเห็นคุณค่าจาก “ความสุข” มากกว่า “ความสมบูรณ์” ล่ะ

และ..ความสุขในครอบครัวก็คือการมีสัมพันธภาพที่ดี

และ..สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวก็คือจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานการเติบโตของเด็กและสมาชิกในครอบครัว

เปลี่ยนมาลดความคาดหวัง สร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวกันดีกว่าค่ะ

หนึ่ง – มีเวลาคุณภาพ

เวลาคือสิ่งที่ทุกคนมีเท่ากัน ต่างกันตรงที่จะบริหารจัดการเวลาอย่างไร เพื่ออะไร และสำหรับคนเป็นพ่อแม่ เวลาคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูก ถ้าในวัยที่ลูกต้องการเวลาคุณภาพจากพ่อแม่ แต่พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับเขา เมื่อเขาเติบโตขึ้นมีชีวิตของตัวเองและเริ่มติดเพื่อน เมื่อถึงเวลานั้นต่อให้พ่อแม่มีเวลามากแค่ไหน ลูกต่างหากที่ไม่อยากใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่

สอง – สรรหากิจกรรมร่วมกัน

การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้พฤติกรรมซึ่งกันและกัน ถ้ามีกิจกรรมครอบครัวที่ดีอย่างสม่ำเสมอ พ่อแม่ก็สามารถเสริมสร้างทักษะชีวิตในด้านต่างๆ ให้ลูกและสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวได้ด้วย

สาม – ปรับวิธีคิดบวก

ท่ามกลางสภาพปัญหาความขัดแย้งในสังคมมักมีเรื่องความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง วิธีคิดบวกเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพ่อแม่ที่ต้องมีต่อลูก เพราะการคิดบวกจะส่งผลต่อวิธีคิดไปสู่ลูกด้วย เรียกว่ามีเป้าหมายเหมือนกันอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่วิธีการที่ใช้อยู่ที่ว่าจะใช้แรงบวกเสริมพฤติกรรม หรือใช้วิธีตำหนิเพื่อให้ลูกทำ เพราะสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ก็ต่างกัน

สี่ – เปิดใจรับฟัง

สัมพันธภาพที่ดีต้องเริ่มจากการรับฟังอย่างตั้งใจ เพราะจะนำไปสู่ความเข้าใจ และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน พ่อแม่จะได้เข้าใจวิธีคิดของลูกว่าลูกคิดอย่างไรต่อเรื่องนั้นๆ และจะทำให้เราสามารถสอดแทรกบางเรื่องที่ต้องการให้ลูกเรียนรู้ได้ด้วย

ห้า – ไว้วางใจ

ความไว้วางใจไม่ใช่เคล็ดลับสำหรับชีวิตคู่เท่านั้น พ่อแม่ควรไว้วางใจลูกด้วย ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไว้ใจลูกเสมอ เปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรด้วยตัวเอง อย่าเล็งผลเลิศว่าต้องสำเร็จทุกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือให้เขาได้กล้าแสดงออก จะทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และเขาจะเติบโตขึ้นไปด้วยความไว้วางใจผู้อื่นต่อไปด้วย

หก – ให้ความเป็นมิตร

พ่อแม่ควรสวมบทบาทความเป็นเพื่อนกับลูกด้วย ยิ่งลูกโตมากขึ้นเรื่อย ๆ พ่อแม่ยิ่งต้องพัฒนาความเป็นเพื่อนกับลูกให้เหมาะสมในแต่ละวัย อย่าคิดว่าเป็นพ่อแม่แล้วลูกต้องเชื่อฟังเท่านั้น แต่การเป็นเพื่อนคือความเข้าใจในตัวลูก พร้อมจะยืนเคียงข้างกับลูกในทุกสถานการณ์

เพิ่มสัมพันธภาพได้ก็เพิ่มความสุขในครอบครัวได้

เมื่อได้ความสุขมา ไยต้องถามหาความสมบูรณ์เล่า

อย่าพยายาม “วิ่งหา” ความสมบูรณ์ในครอบครัว แต่ให้ “มองเห็น” ความไม่สมบูรณ์ในครอบครัวแท้จริงแล้วก็คือความสมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น