xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.สถิตย์” แนะตั้งสหภาพศุลกากรในกลุ่ม CLMV สร้างกลไกพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา
“ส.ว.สถิตย์” แนะทางรอดยุคโควิด-19 เสนอตั้งสหภาพศุลกากรในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และ ไทย ทลายอุปสรรคทางการค้าชายแดนระหว่างกัน สร้างกลไกการพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น พร้อมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีห่วงโซ่การผลิตครอบคลุมประชากรจำนวนมาก และใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ุ สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อรายงานเรื่องข้อเสนอทิศทางประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19 ของคณะกรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม ของวุฒิสภาว่า สงครามการค้า และโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยต้องหันกลับมาเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น เพราะสงครามการค้าทำให้การส่งออกลดลง โควิด-19 ทำให้การบริโภคภายในประเทศถดถอย การท่องเที่ยวหดหาย ส่งผลให้การผลิตการลงทุนชะลอลงไป ยังเหลือเพียงเครื่องยนต์เศรษฐกิจการใช้จ่ายภาครัฐซึ่งได้มีมาตราการไปแล้ว ทั้งการเยียวยาการส่งเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

การเน้นเศรษฐกิจภายในแบบพึ่งตนเอง สำหรับประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเศรษฐกิจของไทยมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง ไทยควรจะเร่งประสานเศรษฐกิจรวมกลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย (CLMVT: Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam, Thai) เพื่อสร้างกลไกในการพึ่งตนเองในกรอบที่ใหญ่ขึ้น สินค้าไทยเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศเหล่านี้ และผลิตจากวัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ในการนี้จำเป็นต้องทลายอุปสรรคทางการค้าชายแดน ต้องยกระดับด่านชั่วคราวให้เป็นด่านถาวร ยกระดับด่านถาวรให้เป็นด่านที่มีประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้มากขึ้น โดยให้ทุกหน่วยงาน ณ ชายแดนปฏิบัติงานในพื้นที่สำนักงานเดียวกัน (Single Roof Policy) และควรพัฒนาไปสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มเดียวกัน (National Single Window)

ดร.สถิตย์ เสนอว่า เศรษฐกิจของกลุ่ม CLMVT ควรพัฒนาไปสู่การจัดตั้งเป็นสหภาพศุลกากร (Customs Union) กล่าวคือ นอกจากเสรีในการนำเข้า-ส่งออกกันแล้ว อัตราภาษีศุลกากร ที่นำเข้ามาในแต่ละประเทศของสหภาพศุลกากรจะเป็นอัตราเดียวกัน

ในการมุ่งสู่การพึ่งพาเศรษฐกิจภายในนั้นต้องให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการเกษตร เพราะเป็นห่วงโซ่การผลิตที่ส่งผลถึงเกษตรกรเป็นการผลิตที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมาก และใช้ทรัพยากรภายในประเทศที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งประเทศไทยมีความสำคัญเป็นอันดับ 8 ของโลก

ดร.สถิตย์ ได้อภิปรายต่อไปว่า จะต้องปรับยุทศาสตร์อุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของโลก โดยต้องมุ่งให้อุตสาหกรรมไทยเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global Supply Chain) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่มีผู้บริโภคจำนวนมาก (Mass Consumer) เช่น สมาร์ทโฟนที่กำลังย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หรือรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถยนต์แห่งอนาคต และไทยมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก เป็นต้น

การทำให้ไทยเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การผลิตของโลก (Global Supply Chain) จะต้องทำให้การลงทุนในประเทศไทยน่าสนใจกว่าประเทศอื่น ซึ่งมิใช่เพียงการเสนอหลักเกณฑ์ และมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมาตรฐาน แต่ต้องออกแบบเฉพาะให้น่าสนใจ สำหรับผู้ผลิตในแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาลงทุน และต้องดำเนินการในเชิงรุกโดยการออกไปชักชวนบริษัทเป้าหมายให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ สมควรให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมผู้สูงวัย เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์แบบ คือ มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 20 ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ไม่ใช่ภาระทางสังคม หากแต่เป็นพลังทางเศรษฐกิจและสังคม ความสูงวัยเป็นเพียงตัวเลขของอายุ แต่แท้จริงแล้วยังมีพลังกาย พลังสมองในการทำงานเพื่อตนเองและสังคม ผู้สูงวัยยังเป็นผู้บริโภคที่สำคัญ มีสไตล์หรือรสนิยมในการบริโภคที่แตกต่างจากคนวัยอื่น จึงสามารถมีผลิตภัณฑ์หลากหลายตอบสนองเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย เวชภัณฑ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้น

อีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่น่าสนใจในการพัฒนา คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตอุตสาหกรรมพื้นฐานในการรักษาความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตด้านนี้ให้สูงยิ่งขึ้นได้ ซึ่งนอกจากจะประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปสู่การส่งออกยังประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีน้อยกว่าได้อีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น