กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โชว์ต้นแบบนวัตกรรมเครื่องมือและชิ้นส่วนทางการแพทย์ เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกเครื่องมือแพทย์ไปสู่ภูมิภาคอาเซียน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ร่วมแถลงผลสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรด้านการวิจัยและพัฒนา ภายใต้โครงการ การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ประจำปี 2563 โดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกเครื่องมือแพทย์ไปสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยมี นายศิริศักดิ์ ฤทธิงาม ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการผลิตอัตโนมัติ และ รศ.ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ
รศ.ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ หัวหน้าโครงการการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ กล่าวว่า ทีมที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านการตลาดและอื่นๆ ร่วมกันทำงานในการศึกษาสืบค้นงานวิจัยต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงนำมาพัฒนาให้เป็นชิ้นงาน ในรูปแบบ “ต้นแบบนวัตกรรม” พร้อมทำการศึกษาวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน การแสวงหาโอกาสทางการตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการในแวดวงเครื่องมือทางการแพทย์แบบครบวงจร และหัวใจสำคัญคือ โอกาสที่ประชาชนจะได้เข้าถึงประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยได้ทำการคัดเลือกผู้ประกอบการที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ร่วมกันพัฒนาต้นแบบชิ้นส่วนและเครื่องมือทางการแพทย์ จำนวน 5 สถานประกอบการ เพื่อพัฒนา 5 ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1. บริษัท บีเอ็น ซุพพีเรีย มาร์เก็ตติ้ง จำกัด พัฒนาต้นแบบเครื่องฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทันตกรรม 2. บริษัท ไทโย เมดิคอล อินสทรูเม้นท์ จำกัด พัฒนาต้นแบบเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในห้องทันตกรรม 3. บริษัท รองเท้าไท จำกัด พัฒนาต้นแบบรองเท้านักเรียนชายเพื่อสุขภาพ ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล 4. บริษัท คว็อลลิทิ อะเบรซิฟ โพรดักส์ จำกัด พัฒนาต้นแบบ “เครื่องหยอดกาวล้อทรายมีแกน” หนึ่งในกระบวนการเพิ่มศักยภาพผ้าทรายสู่การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ และ 5. บริษัท พิสิษฐ์การแพทย์ จำกัด พัฒนาต้นแบบระบบการตรวจสอบป้องกันผู้ป่วยพลัดตกเตียงแบบอัจฉริยะ
หัวหน้าโครงการฯ ยังกล่าวด้วยว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีศักยภาพมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งกระบวนการผลิตเพื่อมูลค่าในเชิงพาณิชย์ สามารถรองรับสถานการณ์วิกฤตในการป้องกันระงับยับยั้ง เช่น ผลกระทบการระบาดของเชื้อ COVID-19 รองรับความต้องการของตลาดผู้รักสุขภาพ ซึ่งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น สังคมผู้สูงวัยภายในประเทศ ทำให้เกิดขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ ไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศหรือผลิตได้ไม่ทันตามความต้องการภายในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการทดแทนนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ และเพื่อสนับสนุนให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง