xs
xsm
sm
md
lg

รับมือลูกวัยรุ่นด้วยทักษะการร่วมรู้สึก (Empathy)/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนไม่เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่าวัยรุ่นเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อจนต้องเตรียมตัวเตรียมใจยอมรับความจริงว่าเมื่อช่วงเวลาดังกล่าวมาถึง การรับมือกับลูกวัยรุ่นก็ดูจะเป็นเรื่องยากลำบากที่ทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีความซับซ้อนและนำความกังวลใจมาให้อยู่เสมอ แต่เราคงไม่สามารถโยนความผิดให้กับใครได้นอกจากพยายามทำความเข้าใจเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

เป็นเรื่องปกติที่คุณพ่อคุณแม่จะคุ้นชินกับลูกที่เป็นเด็กซึ่งต้องการการประคบประหงม รวมถึงการให้ความรักและดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานานร่วม 10 ปี เมื่อถึงวันหนึ่งที่ลูกเติบโตและเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย ความคิด อารมณ์และความรู้สึก ตลอดจนรูปแบบการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมที่ต้องการออกไปเรียนรู้จากการใช้ชีวิตอิสระเพื่อสร้างตัวตนและการยอมรับจากผู้อื่นภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนในวัยหนุ่มสาวและประสบการณ์ที่จำกัด ย่อมเป็นเรื่องยากต่อการปรับบทบาทความสัมพันธ์ที่มีต่อกันได้ในทันที

คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่พยายามปรับตัวหรือพยายามแล้วแต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเลือกใช้เทคนิควิธีการที่ศึกษามาใช้รับมือกับความสัมพันธ์โดยขาดพื้นฐานความเข้าใจในลูกวัยรุ่นอย่างเหมาะสมและเพียงพอ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การผละจากอ้อมกอดของคนในครอบครัวเพื่อออกไปค้นหาเส้นทางของตัวเองนั้นอาจไม่ได้ผลลัพธ์หรือเป็นไปในทิศทางที่คาดหวัง คำถามที่ตามมาคือคุณพ่อคุณแม่จะมีเทคนิคหรือวิธีใดที่จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยไม่ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีปัญหาตามมา

ทักษะการร่วมรู้สึก (Empathy) หรือความเข้าใจในมุมมองความคิดและความรู้สึกของลูกวัยรุ่นคือคำตอบในฐานะทักษะพื้นฐานที่ใช้ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้และฝึกฝนก่อนที่จะเลือกใช้เทคนิคหรือวิธีการใดๆในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเป็นหนทางที่จะสามารถเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึกและความคิดของลูกได้โดยไม่นำอารมณ์และความคิดของตัวคุณพ่อคุณแม่มาชี้นำตัดสิน ทำให้รับรู้และเข้าใจปัญหาและความต้องการของลูกเพื่อแสวงหาแนวทางในการรับมือได้อย่างตรงจุด

องค์ประกอบที่สำคัญของทักษะการร่วมรู้สึก

1.การเปิดใจสื่อสารและร่วมรับฟังอย่างตั้งใจ
2.การร่วมรับรู้ความคิดและเข้าใจมุมมอง
3.การร่วมรับรู้ความรู้สึกและสภาวะอารมณ์
4.การร่วมรับรู้ปัญหาและความต้องการ
5.ไม่ตัดสินด้วยอารมณ์และความคิดของตัวเอง

กล่าวได้ว่าการนำทักษะการร่วมรู้สึกมาใช้ในการจัดการความสัมพันธ์ภายในครอบครัวนั้นมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาการใช้เหตุผลและหลีกเลี่ยงการตัดสินการแสดงออกของลูกวัยรุ่นโดยใช้อารมณ์และความรู้สึกหรือแม้แต่ประสบการณ์ของตัวเองมาเป็นตัวชี้นำ ในทางตรงกันข้าม จำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่ในการสื่อสารและเปิดใจเป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อให้สามารถรับรู้และเข้าใจมุมมองความคิด อารมณ์ความรู้สึกและความต้องการได้อย่างถ่องแท้ ยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันที่พร้อมจะเป็นที่พึ่งและร่วมหาทางออกไปด้วยกัน

แนวทางการใช้ทักษะการร่วมรู้สึกเพื่อรับมือกับลูกวัยรุ่น

1.รู้จักควบคุมอารมณ์และความคิดของตัวเองไม่ให้หวั่นไหวไปกับสิ่งที่รับรู้และตัดสินลูกวัยรุ่นโดยปราศจากการใช้เหตุผลและความเข้าใจที่เพียงพอจนอาจทำให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลาย

2.หมั่นตรวจสอบและซื่อสัตย์ต่อความคิดและความเข้าใจที่มีต่อตัวเองและลูกวัยรุ่น เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและลดทอนอคติที่มีต่อกัน รวมทั้งกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนหรือสิ่งที่ผิดไปจากความคาดหวัง

3.เปิดพื้นที่และเปิดใจกว้างให้ลูกวัยรุ่นได้เสนอความคิดและความต้องการ เข้าหาด้วยการหมั่นพูดคุยสอบถามความเป็นไป ตลอดจนจัดสรรเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจ

4.เปิดโอกาสและช่องทางให้ลูกวัยรุ่นได้ลองผิดลองถูกตามแนวทางของตัวเองอย่างเหมาะสม โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยสนับสนุนและให้คำแนะนำอยู่ไม่ห่าง เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

5.ไม่ตั้งแง่ตำหนิหรือลงโทษในความผิดพลาดของลูกวัยรุ่น เมินเฉยหรือละเลยปล่อยให้สถานการณ์ไม่ดีแย่ลงไปอีก แต่จำเป็นต้องเข้าใจและยอมรับ พร้อมที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือและหาทางออกไปด้วยกัน

ถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจไม่รู้เลยว่าลูกวัยรุ่นของตัวเองนั้นต้องประสบความยากลำบากในการรับมือกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมากเพียงใด ทั้งการแบกรับความคาดหวังของครอบครัว กลุ่มเพื่อนและสังคมเพื่อสร้างที่ยืนและการยอมรับเฉพาะตัวขึ้นมา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถร่วมแบ่งปันทุกข์และสุขจากความสำเร็จและผิดหวังได้ด้วยการเข้าไปนั่งในใจของลูกวัยรุ่น คอยดูแลประคับประคองความสัมพันธ์ที่มีต่อกันให้เป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมการก้าวเดินไปข้างหน้าของลูกให้ดีที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น