xs
xsm
sm
md
lg

1 ใน 4 ของผู้ซื้อทั่วโลกมองหาบ้านหลังที่ 2 เศรษฐีหนีโควิด-19 จ่อเข้าไทย อิงวิจัยนักเดินทาง Airbnb ใช้จ่าย 1.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในทั่วโลก ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นประเด็นที่ทำให้นานาประเทศ ยังคงล็อกดาวน์ หรือมีมาตรการเข้มข้นในการคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ภาคการผลิต และภาคการบริการ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สายการบินต่างๆ หรือแม้แต่ธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่างประสบเรื่องขาดสภาพคล่องอย่างหนัก

ในส่วนของประเทศไทย แน่นอนว่า แม้โควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่ก็ยังมีปัจจัยที่หลายฝ่ายกังวล ทั้งเรื่องโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ติดลบค่อนข้างรุนแรง โดยล่าสุด ตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า ในไตรมาส 2 จีดีพีของไทยติดลบ 12.2% ซึ่งภาคธุรกิจต่างๆ จะอิงกับภาพรวมของเศรษฐกิจที่จะเติบโตขึ้น หนี้ครัวเรือนที่แนวโน้มสูงต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 80.1% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ พุ่งเป็น 4.04% จากปัญหาสภาพคล่อง (Liquidity) และรายได้ที่ขาดไปจากสต๊อกที่อยู่อาศัยที่คงค้างอยู่ (Income Shock) รวมถึงปัญหาแรงงานไทย ที่สภาพัฒน์คาดว่าปีนี้จะตกงาน 8.4 ล้านคน จากผู้มีงานทำ 37 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐพยายามเข็นมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 6 แสนล้านบาท โดยพุ่งเป้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพอิสระ กลุ่มเกษตร และกลุ่มผู้เปราะบาง

สำหรับภาพรวมที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าตลาดลดลง -36% (YoY) มีมูลค่าอยู่ที่ 128,457 ล้านบาท โครงการเปิดใหม่มีมูลค่ารวม 127,679 ล้านบาท โดยมียอดขายจากโครงการใหม่ช่วงเปิดตัวน้อยเพียง 21,058 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลค่าตลาดคอนโดมิเนียมชะลอตัวอย่างมาก โดยมียอดขายรวม 47,830 ล้านบาท ลดลง -54% (YoY) มีมูลค่าโครงการเปิดใหม่น้อยมากในครึ่งปีแรก โดยมีมูลค่าเพียง 33,144 ล้านบาท และมียอดขายจากโครงการเปิดใหม่ต่ำเช่นกัน โดยขายได้ 8,172 ล้านบาท

ส่วนตลาดแนวราบลดลงน้อยกว่า โดยตลาดทาวน์เฮาส์ มียอดขาย 32,829 ล้านบาท ลดลง -20% มีมูลค่าโครงการเปิดใหม่ 40,355 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่มียอดขายจากโครงการเปิดใหม่ค่อนข้างน้อย โดยขายได้เพียง 6,670 ล้านบาท

ตลาดบ้านเดี่ยว มียอดขายรวม 45,574 ล้านบาท ลดลง -12% โดยมียอดขายดีขึ้นในไตรมาส 2 ขณะที่มีมูลค่าโครงการเปิดใหม่ 51,420 ล้านบาท และมียอดขายจากโครงการเปิดใหม่ 5,901 ล้านบาท

จำนวนยูนิตที่ขายได้ในครึ่งปีแรกของที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง 37% (YoY) มียอดขายรวม 32,349 ยูนิต จำนวนยูนิตที่ขายได้ของคอนโดฯ ชะลออย่างมาก โดยลดลงสูงถึง -53% รองลงมาเป็นตลาดทาวน์เฮาส์ ลดลง -19% และบ้านเดี่ยวลดลง -13% ส่วนโครงการเปิดใหม่มีจำนวน 30,221 ล้านบาท ส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะเป็นทาวน์โฮม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่ประเทศไทย สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีมาตรฐาน ส่งผลให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียและของโลกที่ได้รับการยกย่องในเรื่องการป้องกันและควบคุมไวรัส ซึ่งผลดังกล่าวจะเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะทางการเงิน หรือกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่ในประเทศที่มีปัญหาทางการเมือง ก็หันมาพิจารณาและให้น้ำหนักในการเข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เพื่รองรับการเป็นบ้านหลังที่ 2 ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดคอนโดมิเนียมในกลุ่มที่มีดีไซน์ในเรื่องของพื้นที่การอยู่อาศัยจำนวนมาก เช่น คอนโดฯ ระดับลักชัวรี ที่ไม่ได้จำกัดในเรื่ของพื้นที่ และยังมีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากจำนวนยูนิตมีไม่มาก

รวมถึงตลาดในกลุ่มโครงการแนวราบ ประเภทบ้านเดี่ยว เป็นอีกเป้าหมายที่ผู้ซื้อจากต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น แม้ว่าด้วยข้อกฎหมายจะไม่สามารถให้ชาวต่างชาติครอบครองได้ แต่เริ่มมีความพยายามที่จะทำให้เกิดความถูกต้อง โดยบางบริษัทกำลังมีการเจรจากับตัวแทนนายหน้าชาวจีน (โบรกเกอร์) ในการนำร่องโครงการบางส่วนให้แก่ลูกค้าชาวจีน ได้อยู่ในโครงการแนวราบ อาจจะผ่านในรูปแบบของบริษัท มีอายุ 30 บวก 30 ปี เป็นต้น


1 ใน 4 ของผู้ซื้อทั่วโลกสนใจย้ายไปอยู่ตปท.หนีโควิด-19 

ในด้าน ไนท์แฟรงค์ลอนดอน ได้เผยแบบสำรวจผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global Buyer Survey) ถึงเรื่องผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ จากการระบาดของโควิด-19 และผลสำรวจทัศนคติของผู้ซื้อที่พักอาศัยทั่วโลก การสำรวจนี้สะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของลูกค้ากว่า 700 รายใน 44 ประเทศ โดยนายเคท เอเวอร์เรตต์-เอเลน หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านที่พักอาศัยระหว่างประเทศของไนท์แฟรงค์ ระบุว่า "วิกฤตการณ์นี้ได้เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้บ้านกลายเป็นศูนย์กลางการทำงาน ออกกำลังกาย การเรียนรู้ การติดต่อทางสังคม และการพักผ่อน ขณะเดียวกัน ผลจากการอยู่อาศัยในที่พัก ทำให้ผู้คนมีเวลาคิดทบทวนการใช้ชีวิต และมีความต้องการการใช้พื้นที่ของพวกเขามากขึ้น จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการปลดล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลต่อกระทบต่อตลาดอสังหาฯ ทั่วโลก"

จะเห็นได้จากผลการสำรวจ เป็นไปตามการคาดการณ์ อย่างเช่น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นด้านพื้นที่กลางแจ้งและโฮมออฟฟิศ อย่างไรก็ตาม วิธีการจัดการกับโควิด-19 ของรัฐบาลประเทศต่างๆ กลายเป็นประเด็นหลักสำหรับผู้สนใจซื้อบ้านหลังที่ 2

ความตั้งใจซื้ออสังหาฯ ในอนาคต พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจแสดงให้เห็นว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะย้ายบ้านในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยส่วนใหญ่มองหาที่พักอาศัยในพื้นที่เดิม 40% และ 26% ตั้งใจจะย้ายที่อยู่ไปในพื้นที่ใหม่ภายในประเทศ และ 34% กำลังพิจารณาที่จะซื้ออสังหาฯ ในต่างประเทศ

สหราชอาณาจักร สเปน และฝรั่งเศสเป็นประเทศอันดับต้นๆ สำหรับผู้ที่มองหาที่พักอาศัย ตามมาด้วยออสเตรเลีย แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา โดยทุกประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี เสถียรภาพทางการเมือง ค่าเงินที่มั่นคง ระบบการศึกษาที่ดี และสามารถเข้าออกประเทศได้ง่ายในสถานการณ์ปกติ นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ โปรตุเกส มอลตา และนอร์เวย์ก็มีความต้องการไม่แพ้กัน

การยกระดับที่พักอาศัยหลังหลักของครอบครัว ถูกจัดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการซื้ออสังหาฯ ในขณะที่การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ถูกจัดเป็นอันดับ 2 การซื้อเพื่อเป็นบ้านพักตากอากาศเป็นอันดับ 3 ตามมาด้วยเหตุผลทางธุรกิจหรือการจ้างงานถูกจัดเป็นอันดับ 4 และผลจากการกักตัวมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ข้อคิดเห็นที่ได้รับจากผู้ตอบแบบสำรวจ คือ ผู้ซื้อต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยคิดเป็น 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแนวโน้มที่จะซื้อบ้านเดี่ยวมากกว่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 เน้นไปที่บ้านติดริมน้ำ 40% และบ้านในเขตชนบท 37%

คาดหวังราคาปรับลดลง
แต่ยังมองเงินในกระเป๋าด้วย

นอกจากนี้ เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแนวโน้มที่จะทำงานจากบ้านหลังการปลดล็อกดาวน์ ซึ่ง 64% กล่าวว่า โฮมออฟฟิศเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ 32% เห็นว่าไลฟ์สไตล์การทำงานของพวกเขาจะยังคงเหมือนเดิม และยังบอกว่าสำนักงานยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม การทำงานร่วมกัน การศึกษา และการพบปะทางสังคมอีกด้วย

เช่นเดียวกับเรื่องของราคา ผู้ซื้อคาดว่าราคาอสังหาฯ จะปรับลดลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า การคาดการณ์จากไนท์แฟรงค์ ไพร์ม โกลบอล (Knight Frank Prime Global Forecast) ที่จัดทำขึ้นในเดือนเมษายน 2563 แสดงให้เห็นว่าราคาขายเฉลี่ยคาดว่าจะปรับลดลงใน 16 เมืองจาก 20 เมืองในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อเชื่อว่างบของพวกเขายังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด ช่วงการล็อกดาวน์ทำให้พวกเราใช้จ่ายน้อยลง จึงมีแนวโน้มว่าผู้ซื้อจะใช้จ่ายน้อยลงและประหยัดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีมากกว่า 30% ชี้ว่างบของพวกเขาลดลงกว่า 10% ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจและบริษัทต่างๆ มีการปรับลดเงินเดือน การลดชั่วโมงการทำงาน หรือการเลิกจ้าง

"มากกว่า 26% ของผู้ตอบแบบสำรวจแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะซื้อบ้านหลังที่ 2 มากขึ้น เนื่องจากโควิด-19 โดยคาดว่าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนเมื่อมีการแพร่ระบาดครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ข้อมูลจากไนท์แฟรงค์เห็นด้วยกับมุมมองนี้ โดยมีปริมาณการสอบถามข้อมูลเข้ามาอย่างล้นหลามหลังการปลดล็อกดาวน์ เกี่บวกับบ้านหลังที่ 2 ในทำเลไพรม์ในประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี"

นายแฟรงค์ ข่าน กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายที่พักอาศัย ไนท์แฟรงค์ประเทศไทย กล่าวว่า "เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในเรื่องความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้ซื้อชาวไทย โดยพวกเขาสนใจพื้นที่กลางแจ้ง พื้นที่สวน พื้นที่สีเขียว และพื้นที่ส่วนตัวในการทำงานจากบ้านและเพื่อเป็นมุมพักผ่อนมากยิ่งขึ้น"

"มากกว่า 50% ของกลุ่มผู้ซื้อชาวไทยให้ความสนใจกับที่พักอาศัยใจกลางเมือง เช่น สุขุมวิท อโศก พระราม 9 รัชดา เป็นต้น ส่วนอีกเกือบครึ่งหนึ่งต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นอยู่ในงบที่จำกัด แม้จะอยู่ไกลจากเมือง แต่ใช้เวลาการเดินเข้าเมืองไม่นาน"


ท่องเที่ยวท้องถิ่นในไทยเงินสะพัด 4.37 หมื่นล้าน

ด้านอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) สำนักงานวิจัยชั้นนำของโลก เปิดเผยรายงานผลกระทบของ Airbnb ต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยว่า เมื่อปี 2562 Airbnb มีส่วนช่วยสร้างเม็ดเงินราว 4.37 หมื่นล้านบาทให้แก่จีดีพี สนับสนุนการจ้างงานกว่า 113,300 ตำแหน่ง

นายไมค์ ออร์กิล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Airbnb กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นเกี่ยวเนื่องกับการกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งรายงานวิจัยนี้ตอกย้ำว่า ชุมชน Airbnb มีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยเติบโต รวมถึงส่งเสริมและสร้างงานในท้องถิ่นหลายหมื่นตำแหน่ง แม้ว่าข้อมูลในรายงานฉบับนี้จะเป็นข้อมูลย้อนหลังไปไม่กี่ปี แต่เราเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการพิจารณาด้านระเบียบที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ยังคงตอบโจทย์และเหมาะสมต่อวัตถุประสงค์หรือไม่ ระเบียบข้อบังคับที่ใช้ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 อาจไม่เหมาะจะนำมาใช้ต่อหลังจากผ่านพ้นช่วงของการแพร่ระบาดไปแล้ว

นายเจมส์ แลมเบิร์ต ผู้อำนวยการด้านที่ปรึกษาเศรษฐกิจในเอเชีย อ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า Airbnb มีส่วนดึงดูดนักท่องเที่ยวและทำให้เกิดการใช้จ่ายกลับคืนสู่เศรษฐกิจในพื้นที่ที่ไปเยือน โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางไทยที่ต้องการท่องเที่ยวในประเทศ แทนการเดินทางต่างประเทศในปัจจุบัน รวมถึงค้นพบสถานที่ท่องเที่ยวใหม่เพิ่มเติม Airbnb สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักเดินทางอยากเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่จุดยอดฮิต หรือยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ด้วยการมีที่พักและการจัดประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์และโดดเด่นไม่เหมือนใคร นอกจากนั้น Airbnb ยังโดดเด่นในเรื่องของ Resilience (การปรับตัว) Flexibility (ความยืดหยุ่น) และ Affordability (ราคาอันย่อมเยา) ซึ่งหมายถึงสามารถช่วยเร่งการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และในสถานการณ์ปัจจุบัน Airbnb จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มที่พักในจุดหมายปลายทางที่อาจมีที่พักไม่เพียงพอ รวมถึงยังช่วยสร้างตลาดท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้อีกด้วย

เผย 5 ปี นักเดินทางเที่ยวไทยใช้จ่าย 1.5 แสนล้าน

รายงานวิจัยของอ็อกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ที่สนับสนุนโดย Airbnb พบว่า Airbnb ได้กลายเป็นเสาหลักสำคัญทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยช่วยผลักดันให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้ครอบครัว ธุรกิจขนาดเล็ก และชุมชนต่างๆ สร้างรายได้จากการให้เช่าที่พักระยะสั้น

ในรายงานยังเน้นย้ำถึงผลกระทบเชิงบวกที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับจากการจับจ่ายของนักเดินทาง Airbnb ในขณะที่ Airbnb ช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ชุมชน

ในช่วง 5 ปี (58-62) นักเดินทาง Airbnb ในประเทศไทย ได้ใช้จ่ายเป็นจำนวนรวม 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 54.8% ต่อปี และในปีที่ผ่านมา นักเดินทาง Airbnb ได้มีการใช้จ่ายกว่า 1.96 หมื่นล้านบาทไปกับร้านอาหารและร้านค้าในท้องถิ่น โดยทุกๆ 1,000 บาทที่จ่ายให้แก่ Airbnb นักเดินทางจะใช้จ่ายอีก 420 บาทไปกับธุรกิจท้องถิ่น

รายงานนี้ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า Airbnb ช่วยกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวมาสู่ชุมชน เห็นได้จากการจับจ่ายของนักเดินทาง Airbnb กว่า 9% ที่เกิดขึ้นนอกเมืองหลักในปี 2562

สำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศนั้น ในประเทศไทยมีที่พัก Airbnb กว่า 99,000 แห่ง และได้ต้อนรับนักเดินทางกว่า 2.5 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้น 27% และเพิ่มเกือบ 8 เท่าจากปี 2558 ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านักเดินทางต่างต้องการตัวเลือกที่พักที่หลากหลาย นักเดินทาง Airbnb จากต่างประเทศมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 20,376 บาทต่อทริป และนักเดินทาง Airbnb ในประเทศมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 18,076 บาทต่อทริป

ตลาดนักเดินทางจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนับได้ว่ามีส่วนสำคัญต่อการท่องเที่ยวของโลก สัดส่วนของนักเดินทาง Airbnb จากตลาดต่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยมากที่สุดในปี 2562 ได้แก่ จีน 38% สหรัฐฯ 11% ฮ่องกง 5% เกาหลีใต้ 4% และสิงคโปร์ 4%


ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยยังพบว่า Airbnb มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการสร้างเม็ดเงินรวมมูลค่า 7.03 แสนล้านบาทให้แก่จีดีพีของภูมิภาคนี้ นอกจากนั้น ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค โดยก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งหมด 925,600 ตำแหน่งในเอเชียแปซิฟิก หรือคิดเป็น 1% ของการจ้างงานรวมในภาคการท่องเที่ยวของทั้งภูมิภาค

ด้าน ผศ.พรทิวา วิจิตรโกเมน อาจารย์ประจำภาควิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ผู้ที่มีประสบการณ์ทำวิจัยด้านการเช่าที่พักระยะสั้นในประเทศไทย ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ว่า "ประโยชน์ที่เจ้าของที่พักได้รับคือ การสร้างเม็ดเงินรายได้ที่เกิดขึ้น และปรากฏการณ์ความนิยมในการทำธุรกิจที่พักระยะสั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามาทำตลาดของแพลตฟอร์มอย่าง Airbnb และอื่นๆ นอกจากนั้น มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น co-host เปิดคอร์สสอนพัฒนาการทำที่พัก การรับถ่ายภาพ การทำความสะอาด หรือการขนส่งต่างๆ และยังพบว่า นักท่องเที่ยวในช่วงอายุ 25-35 ปี ต้องการที่จะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งในที่นี้หมายถึงทั้งชุมชนชนบท และชุมชนเมือง ผู้บริโภคจะใช้โอกาสเพื่อหาประสบการณ์จากชุมชนนั้นๆ สิ่งนี้เองเป็นประโยชน์ต่อการสร้างรายได้สู่ชุมชนที่เปิดรับนักท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น