ปลัดกรุงเทพมหานคร เผยถึงกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมสร้างปัญหามลพิษ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ประกอบการไม่ทิ้งขยะ หรือน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ใต้โครงการ “รักษ์เจ้าพระยา” ของกรุงเทพมหานคร
วันนี้ (17 ส.ค.) นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมสร้างปัญหามลพิษ ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ซึ่งดูแลคุณภาพน้ำในคูคลองต่างๆ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ผู้ประกอบการไม่ทิ้งขยะหรือน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้สถานประกอบการทิ้งน้ำเสียลงท่อระบายน้ำ เพื่อให้กรุงเทพมหานครดำเนินการรวบรวมไปบำบัดที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำ และไม่ให้ทิ้งน้ำเสียลงแหล่งน้ำโดยตรง ขณะเดียวกัน ได้เผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ เช่น แผ่นพับ วิดีทัศน์ รวมถึงสนับสนุนข้อมูลเอกสารทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการ เพื่อปลูกฝังทัศนคติให้ทุกคนรักและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งการให้ความรู้ แนะนำการติดตั้งถังดักไขมัน ติดตั้งบ่อเกรอะบ่อซึม ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปแก่บ้านเรือน ชุมชน และสถานประกอบการ จัดกิจกรรมชุมชนคนรักษ์คลอง จัดกิจกรรมพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพน้ำคลอง สนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่ง เพื่อรวบรวมน้ำเสียจากชุมชนเข้าสู่โรงบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้งลงคลองและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดคุณภาพน้ำริมแม่น้ำ จำนวน 15 จุด เพื่อรวบรวมข้อมูล ประเมินสถานการณ์ในการดำเนินการต่อไป รวมทั้งในขณะนี้ได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งให้ได้มาตรฐานก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูแลคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการ “รักษ์เจ้าพระยา” ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งประสานผู้ประกอบการเรือโดยสารและท่าเรือจัดให้มีถังขยะเพียงพอ จัดเรือตรวจการในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงรณรงค์สร้างความเข้าใจกฎหมายห้ามทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลในที่สาธารณะและแหล่งน้ำ อีกทั้ง สำนักอนามัย ได้ร่วมกับสำนักงานเขตกำกับดูแลและตรวจสอบสถานประกอบกิจการต่างๆ เป็นประจำ ทั้งการตรวจเฝ้าระวังและการตรวจต่ออายุใบอนุญาตฯ ซึ่งหากพบการดำเนินการไม่ถูกสุขลักษณะหรือมีการบำบัดน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สำนักงานเขตจะออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินการแก้ไขจะมีบทลงโทษตามกฎหมายต่อไป