การดำเนินชีวิตทางสังคมในทุกวันนี้เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธอิทธิพลของ ‘สื่อสังคมออนไลน์’ (Social Media) ที่แทรกซึมเข้าไปในทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน หลายคนอาศัยช่องทางดังกล่าวในการเชื่อมโยงบุคคลที่รักซึ่งอยู่ห่างไกลได้เข้ามาใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยการบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จหรือผิดหวังในชีวิต ไม่เว้นแม้แต่กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ผ่านทางภาพและเสียง รวมถึงข้อความบรรยายที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและน่ายินดี
แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เปรียบเสมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน โดยเฉพาะกับคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่มีความคุ้นเคยและผูกติดอยู่กับการใช้เทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจเลือกที่จะแบ่งปันความคิด ความรู้สึกและเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับสมาชิกตัวน้อยภายในบ้านให้กับเพื่อนร่วมเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้รับรู้อยู่เสมอ ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะต้องการเก็บบันทึกรูปภาพและความทรงจำที่ดีเอาไว้ในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา หรือเป็นช่องทางในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนเลี้ยงลูกด้วยกันเอง
ในขณะเดียวกัน การทำสิ่งใดที่มากจนเกินความพอดีก็มักสะท้อนออกมาเป็นด้านตรงข้ามของเหรียญที่ชื่อสื่อสังคมออนไลน์ได้เช่นกัน เป็นที่ทราบกันดีว่าข้อมูลที่เผยแพร่ในช่องทางออนไลน์สามารถเข้าถึงได้โดยผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกหากขาดความระมัดระวังที่มากพอ ซึ่งเป็นช่องทางที่อาจมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลต่างๆไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมจนก่อให้เกิดผลเสียหายกับเด็กตามมา ยังไม่นับรวมถึงความยินยอมพร้อมใจของลูกๆว่ามีความเต็มใจที่จะให้คุณพ่อคุณแม่เผยแพร่เรื่องราวของตัวเองออกไปหรือไม่อีกด้วย
‘Sharenting’ จึงถูกบัญญัติขึ้นมาจากคำว่า Parent และ Sharing เพื่อสื่อถึงพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ที่เผยแพร่ข้อมูลและเรื่องราวของลูกลงในสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะที่เกินความพอดี โดยข้อมูลที่กล่าวถึงนี้ครอบคลุมทั้งภาพและเสียงจากภาพถ่ายและวิดีโอคลิป รวมถึงข้อความในการบอกเล่าความรู้สึกนึกคิด การเปลี่ยนแปลงและการแสดงออกทั้งทางร่างกายและจิตใจ การทำกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนเรื่องราวความสำเร็จ ความผิดหวังหรือสิ่งที่ควรจะเป็นเรื่องส่วนตัวของลูกๆ
คุณพ่อคุณแม่หรือแม้แต่ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กจึงควรตรวจสอบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของตัวเองอยู่เสมอว่ามีแนวโน้มที่จะเข้าข่ายการ Sharenting หรือการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับลูกลงบนโลกออนไลน์มากเกินไปหรือไม่ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมของตัวเองและผลกระทบที่อาจเกิดต่อเด็กได้ ดังนี้
1.เสพติดโลกออนไลน์ – คุณพ่อคุณแม่ที่จดจ่ออยู่กับการดำเนินกิจกรรมต่างๆทั้งของตัวเองและคนอื่นๆที่หมั่นสลับกันมาบอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปต่างๆนั้น มีแนวโน้มที่จะต้องพยายามเสาะหาภาพถ่าย ความคิดเห็นหรือข้อความมาเผยแพร่ลงในสื่อสังคมออนไลน์อยู่ตลอดเวลา หนึ่งในนั้นคือการหยิบเอาเรื่องราวของลูกหรือเรื่องภายในครอบครัวมานำเสนอให้คนอื่นได้รับรู้จนทำให้เด็กขาดความเป็นส่วนตัวและเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีได้ แต่ด้วยความที่เป็นเด็กจึงไม่สามารถปฏิเสธหรือแสดงออกถึงความไม่พอใจได้มากนัก
2.ขาดความระมัดระวัง – คุณพ่อคุณแม่ที่ขาดความรอบคอบและความระมัดระวังในการลงข้อมูลใดๆในโลกออนไลน์ซึ่งหากเผยแพร่ออกไปแล้วนับเป็นเรื่องยากที่จะลบทิ้งหรือแก้ไขได้นั้นอาจสร้างปัญหาให้กับตัวเองและลูกโดยไม่จำเป็น ในด้านหนึ่งอาจมีผู้ไม่หวังดีนำรูปภาพหรือข้อมูลของเด็กไปใช้ในทางเสื่อมเสีย เป็นส่วนหนึ่งในการกระทำผิดกฎหมายหรือทำให้เด็กตกอยู่ในอันตราย อีกด้านหนึ่งอาจเป็นการสร้างภาพการจดจำในทางไม่ดีที่ผู้อื่นมีต่อเด็ก ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกอับอายหรือวางตัวลำบากยิ่งขึ้นเมื่อต้องเข้าสังคม
3.ยึดถือตัวเองเป็นที่ตั้ง – คุณพ่อคุณแม่ที่ถือวิสาสะนำข้อมูลส่วนตัวของลูกไปเผยแพร่โดยไม่สอบถามหรือได้รับความยินยอมจากลูกก่อนราวกับว่าเป็นเรื่องของตนเองนั้น มักก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวตามมา เนื่องจากความคิดและความเข้าใจของผู้ใหญ่นั้นมักไม่ตรงกันกับการรับรู้ของเด็ก โดยเฉพาะในเด็กโตหรือเข้าสู่วัยรุ่นที่มีความคิด ค่านิยมและกลุ่มทางสังคมของตัวเอง ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจที่กำลังถูกคุกคามพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งส่งผลเสียต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกเป็นอย่างยิ่ง
4.ละเลยหน้าที่ที่มีต่อลูก – หน้าที่สำคัญของคุณพ่อคุณแม่ในทุกยุคทุกสมัยคือการดูแลให้ความรักความเอาใจใส่และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนลูกในทุกเรื่อง แต่คุณพ่อคุณแม่ที่หมกมุ่นอยู่กับการมีตัวตนบนโลกออนไลน์มักทำในสิ่งตรงกันข้ามคือ สนใจเฉพาะการถ่ายภาพหรือบันทึกวิดีโอการทำกิจกรรมของลูกหรือคอยจัดแต่งท่าทางและฉากหลังในการถ่ายรูปให้ออกมาดูดีเพื่อนำไปลงในโซเชียลมีเดียมากกว่าที่จะปล่อยให้เด็กมีอิสระในการเล่นสนุกและลงมือทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันกับลูกเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกัน
5.มุ่งหาผลประโยชน์ – คุณพ่อคุณแม่มักลงเรื่องราวของลูกในโลกออนไลน์เพียงเพราะต้องการเก็บความทรงจำดีๆ หรือบอกเล่าเรื่องราวที่น่ายินดีให้กับคนรู้จักได้รับทราบ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พยายามต่อยอดโดยการสร้างความนิยมให้มีคนจำนวนมากเข้ามาติดตามสิ่งที่เด็กทำเพื่อสร้างรายได้หรือผลประโยชน์จากยอดการรับชม อาจเป็นเรื่องปกติในโลกยุคนี้แต่ก็ยังคงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ความต้องการของเด็ก รวมถึงผลกระทบด้านจิตใจที่ต้องรับมือกับการเป็นที่รู้จักและสนใจจากคนจำนวนมากตั้งแต่อายุยังน้อย
เป็นระยะเวลานานมากแล้วที่มีคุณพ่อคุณแม่จำนวนหนึ่งเข้าใจผิดคิดว่าลูกเป็นสมบัติส่วนตัวที่อยากจะทำอะไรก็ได้เพียงเพราะเห็นว่าเป็นเด็ก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าตนเองเป็นเพียงผู้อุปการะเลี้ยงดู ให้ความรักและส่งเสริมสิ่งที่ดีให้กับลูก ซึ่งย่อมรวมถึงการยอมรับและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่นำเรื่องราวไปเผยแพร่โดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของเด็กๆ