คณาจารย์คณะสังคมฯ ม.ธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปกป้องสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา โดยเปิดพื้นที่ให้จัดม็อบ ห่วงชุมนุมนอกสถาบันจะไม่ปลอดภัย วอนเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ไม่ข่มขู่ คุกคาม พร้อมขอให้สาธารณชนรับฟังข้อเสนอของนักศึกษาด้วยเหตุผล โต้แย้งอย่างสันติ ไม่ใช่อคติ ค่านิยม ความเชื่อ หรือการถูกครอบงำด้วยอารมณ์
วันนี้ (13 ส.ค. 63) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยปกป้องสิทธิ เสรีภาพของนักศึกษา ในการชุมนุม
มีรายละเอียดว่า ...
แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อสถานการณ์สืบเนื่องจากการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563: "ขอเรียกร้องให้คุ้มครองสวัสดิภาพนักศึกษา ใช้วิธีการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติธรรม และปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก"
สืบเนื่องจากการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง และอยู่ในกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หากแต่มีประเด็นข้อเสนอเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งคณาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาตระหนักดีว่าเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างรุนแรงในสังคม
หลังจากนั้น ในคืนวันที่ 12 -13 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มีเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลไปคุกคามนักศึกษาของคณะฯ ที่เป็นหนึ่งในผู้ปราศรัย คณาจารย์จึงมีความวิตกในวิธีที่สังคมจะจัดการกับความแตกต่างทางความคิด ทั้งที่ผู้ชุมนุมก็ได้แถลงแล้วว่า เป็นข้อเสนอที่ปรารถนาให้สถาบันกษัตริย์ได้อยู่เป็นมิ่งขวัญอาณาประชาราษฎร์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต่อไป
ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์ในขณะนี้ คณาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ขอให้มหาวิทยาลัยปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเปิดพื้นที่การแสดงออกให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง ตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หากมหาวิทยาลัยละเลยหน้าที่นี้เสียแล้ว ก็จะมีส่วนผลักไสให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงนอกพื้นที่สถาบันการศึกษา
2. ขอให้นักศึกษายึดมั่นในหลักของสิทธิเสรีภาพและหลีกเลี่ยงการแสดงออกด้วยถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (hate speech)
ข้อเรียกร้องใดๆ ของนักศึกษาก็ควรที่จะต้องวางอยู่บนหลักเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา หลีกเลี่ยงถ้อยคำและท่าทีที่จะนำไปสู่การเหยียดหยาม หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายกัน
3. ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม โดยคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ดูแลความปลอดภัยให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ร่วมชุมนุม เคารพในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากลและมีธรรมาภิบาล ไม่คุกคาม ข่มขู่ ใช้อำนาจนอกระบบกฎหมายไปเพื่อปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน คณาจารย์จะเฝ้าดู ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และพร้อมปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ตามกำลังที่สามารถกระทำได้
4. ขอให้สาธารณชนรับฟังทำความเข้าใจข้อเสนอของนักศึกษาด้วยหลักเหตุผล หากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้ชุมนุมก็ควรโต้แย้งบนหลักเหตุผลและข้อเท็จจริงโดยสันติ มิใช่ด้วยอคติ ค่านิยม ความเชื่อ หรือการถูกครอบงำด้วยอารมณ์ ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม
ด้วยหลักปรัชญาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา “เข้าใจ เคารพ เปลี่ยนแปลง”