ศบค.อนุมัติหลักการ 4 กลุ่มต่างชาติเข้าไทย ทั้งจัดแสดงสินค้า ถ่ายหนัง มารักษา และอีลิทการ์ด ต้องกักตัวครบ 14 วัน มีเจ้าหน้าที่ติดตามกลุ่มแสดงสินค้าและถ่ายหนัง ไฟเขียวนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเข้าไทย 1.1 แสนกว่าคน เล็งกักตัวแบบออแกไนเซชัน ควอรีนทีน ลดต้นทุนนายจ้าง ต้องผ่านมาตรฐาน สธ.- ฝ่ายมั่นคง
วันนี้ (22 ก.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ อนุมัติในหลักการของกลุ่มต่างชาติที่เข้ามาด้วยการการจัดการทำข้อตกลงพิเศษ และมาตรการสำหรับบุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ข้อสรุป คือ เข้ามาแล้วต้องมีมาตรการอยู่ในสเตทควอรันทีน โดยกระทรวงการต่างประเทศจะไปลงในรายละเอียด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังอนุมัติในหลักการของแนวทางหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติในการนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า ลาว และ กัมพูชา เข้ามาในประเทศ เนื่องจากมีความต้องการใช้แรงงานไร้ฝีมือ โดยมี 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มมีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าอยู่แล้ว ต้องการกลับเข้ามทำงานใหม่ จำนวน 69,235 คน และ 2. ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ต้องการนำเข้ามา นายจ้างยื่นติดต่อแล้ว 42,168 คน รวมแล้วประมาณ 1.1 แสนกว่าคน ในกลุ่มก่อสร้างและอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม หากเข้ามาอยู่ในสเตทควอรันทีน และจ่ายค่าใช้จ่ายเอง จะทำให้ต้นทุนสูงมาก เพราะเกือบ 2 หมื่นบาทต่อคน จึงมีการเสนอให้กักตัวโดยใช้ ออแกไนเซชัน ควอรันทีน คือ หน่วยงานจัดสถานที่กักตัวขึ้นมา แทนที่จะเป็น 1 คนต่อห้อง อาจเป็น 2 คน หรือกี่คนต่อห้อง เพื่อให้คนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่องค์กรนั้น ซึ่งที่กักตัวต้องได้รับการตรวจมาตรฐานทั้งจากกระทรวงสาธารรสุข (สธ.) และฝ่ายมั่นคง ว่า มีระบบป้องกันไม่ให้คนออกข้างนอก อยู่ในพื้นที่ ไม่ถ่ายทอดเชื้อสู่คนอื่น ซึ่งตรงนี้กระทรวงแรงงานจะลงในรายละเอียด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนการผ่อนคลายต่างชาติ 4 กลุ่มเข้าประเทศ ศบค.ก็อนุมัติในหลักการ คือ 1. เข้ามาจัดแสดงสินค้า พบว่า จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดย ก.ย.จะมี 1 งาน ราว 680 คน ต.ค. 8 งาน 400 กว่าคน พ.ย. 4 งาน 4 พันกว่าคน และ ธ.ค. 2 งานอีก 1,100 กว่าคน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจพอสมควร มาตรการคือต้องตรวจหาเชื้อ กักตัวในโรงแรมที่อยู่ในลิสต์ของ ศบค. มีคณะเจ้าหน้าที่ดูแล 1 คนต่อต่างชาติ 10 คน เพื่อติดตาม การจัดประชุมที่นั่งต่างๆ ก็มีมาตรการ เช่น ฉากกั้นบนโต๊ะเจรจา ระหว่างโต๊ะเจรจา เป็นต้น 2. การถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งแต่ละปีทำรายได้ให้ประเทศไทยหลายพันหลานบาท มาตรการ คือ มีการตรวจโควิดก่อนมา มีใบรับรองแพทย์ เข้ากักตัวในอัลเทอร์เนทีฟ สเตทควอรันทีน มีเจ้าหน้าที่ติดตามตลอดเวลาที่อยู่ในไทย มีประกันสุขภาพ แจ้งการใช้พื้นที่ถ่ายทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทราบล่วงหน้า เพื่อสร้างความเข้าใจคนในพื้นที่
3. เมดิคัลแอนด์เวลเนส ต้องกักตัวใน รพ.ครบ 14 วัน แม้รักษาเสร็จก่อนก็ตาม และเมื่อครบ 14 วัน ก็จะเชื่อมโยงแพกเกจทัวร์ เพราะกักตัวครบแล้ว มั่นใจไปที่ไหนในประเทศได้ เพื่อให้คนเหล่านี้มีการใช้จ่าย และ 4. คนถือบัตรสมาชิกพิเศษประเทศไทยหรืออีลิทการ์ด มีสมาชิก 10,363 ราย อยู่ในไทย 3,108 ราย นอกประเทศ 7,255 ราย จะนำร่องเข้าประเทศ 200 ราย ก็ต้องอยู่ในสเตทควอรันทีนเช่นกัน