xs
xsm
sm
md
lg

ลดความเสี่ยง “มะเร็งตับ” ด้วยวัคซีนก่อนร้ายแรง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...ศ.พญ.วโรชา มหาชัย อายุรแพทย์ทางเดินอาหารและตับและผู้อำนวยการศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ไวรัสตับอักเสบ เป็นโรคที่พบในคนไทยค่อนข้างมาก เป็นภาวะที่ตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส อาทิ ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสตับอักเสบบี มีโอกาสเป็นเรื้อรัง มีโอกาสที่จะเป็นตับแข็งและร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคมะเร็งตับได้ ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบก่อนลุกลามและรุนแรง

ไวรัสตับอักเสบ ถือเป็นเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงที่อาจถึงชีวิตได้ หากรับการรักษาช้าหรือปล่อยให้เรื้อรัง การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus) เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับ มีอุบัติการณ์สูงในทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทย โดยติดต่อผ่านทางการคลอดที่มารดาเป็นตับอักเสบบี การสัมผัสเลือดหรือแผลเปิดของผู้ติดเชื้อ การมีเพศสัมพันธ์ และการใช้อุปกรณ์ที่สัมผัสเชื้อร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา มีดโกนหนวด หรือแปรงสีฟัน

ภาวะตับอักเสบเฉียบพลันเกิดได้หลังจากการรับเชื้อไวรัสบี ส่วนใหญ่ (90%) หายเองและเกิดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ กลายเป็นพาหะไวรัสบี และมีโอกาสดำเนินโรคกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับได้ ช่วยกระตุ้นและสร้างภูมิต้านทานขึ้นในร่างกาย สามารถฉีดป้องกันได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่ โดยฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ครั้งที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ถึง 95% ภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานหลายปีหรือตลอดไป


สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เพื่อเป็นการป้องกัน ประกอบด้วย ทารกแรกเกิดทุกราย เด็ก และผู้ใหญ่ที่ยังไม่มีภูมิป้องกัน ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่น รักร่วมเพศ ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อยๆ หรือผู้ที่ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เป็นต้น

ขณะที่ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A virus) สามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม หรือสัมผัสสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัส ทําให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน มีอาการอ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว ไข้ เบื่ออาหาร และดีซ่าน อาการเกิดหลังจากได้รับเชื้อราว 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาตามอาการ และสามารถหายได้เองร่างกายสร้างภูมิต้านทานได้ แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงเกิดภาวะตับวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้

การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ จึงเป็นการป้องกันโรคที่ได้ผลเกือบ 100% สามารถฉีดได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6เดือน และผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคไวรัสตับอักเสบเอ สามารถรับการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน ผู้ที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ ได้แก่ เด็กอายุมากกว่า 1 ปี ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบไวรัสบีและซี ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบเอ หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ กลุ่มรักร่วมเพศ ผู้ที่ใช้สารเสพติด บุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการ พ่อครัว แม่ครัว ที่ต้องปรุงอาหารเป็นประจำ และผู้ที่จะเดินทางไปยังสถานที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน

ทั้งนี้ ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบเอ อาจร้ายแรงถึงชีวิต การใส่ใจและดูแลตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ และควรเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น