มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน - สสส. ชวนคนไทยงดเหล้า งดหวย ช่วยประหยัด สู้โควิด-19 หลังผลโพลพบการเงินครัวเรือนไทยร่อแร่ กว่าร้อยละ 70 เผยหากระบาดซ้ำรอบสอง ครอบครัวลำบากแน่ แนะ ทุกครอบครัวปรับความปกติใหม่ทางการเงิน ตัดรายจ่ายไม่จำเป็น
วันนี้ (10 ก.ค.) ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง จังหวัดนนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดแถลงข่าวการรณรงค์ “งดเหล้า เซาหวย ช่วยประหยัด สู้โควิด เริ่มที่เข้าพรรษานี้” ในงานมีการแสดงเทศนาธรรม “โอ่งธรรม โอ่งชีวิต” โดย พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ และพิธีประกาศปณิธานงดเหล้า งดหวย ในช่วงเข้าพรรษา ของประชาชนจาก 5 ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน 10 จังหวัด ภายใต้การสนับสนุนโครงการรณรงค์หยุดพนัน โดย สสส. ได้ร่วมกันสำรวจสถานการณ์และความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปกติใหม่ทางการเงินในยุคโควิด-19” ระหว่างวันที่ 15-30 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 1,060 คน พบว่า ในช่วงปกติที่ยังไม่เกิดวิกฤตโควิด-19 ฐานะทางการเงินของครัวเรือนไทยโดยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่มั่นคงอยู่แล้ว เมื่อเผชิญวิกฤตโควิด-19 จึงประสบปัญหาที่ทับถมรุนแรง จากการถามถึงผลกระทบหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พบว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งได้รับความกระทบกระเทือน โดย 59% ตอบว่ามีรายรับลดลง 52% มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 62% มีเงินออมลดลง แต่ที่น่าห่วงคือ 36% ที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้น เมื่อถามถึงการปรับตัวทางการเงินขณะเผชิญโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ 40% ใช้วิธีลดรายจ่าย ขณะที่ 29% พยายามหารายได้เพิ่ม มี 13% ที่มีการปรับตัวด้านการออม บางคนต้องออมน้อยลง แต่บางครัวเรือนออมมากขึ้น แต่มี 15% เลือกวิธีก่อหนี้เพิ่ม เมื่อให้ผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนความสามารถตัวเองในการจัดการการเงินช่วงโควิด มีเพียง 22% ที่ให้คะแนนตัวเองในเกณฑ์ดี-ดีมาก ที่เหลือ 57% ให้คะแนนตัวเองออกมาทางพอใช้-น้อย ซึ่งถือว่าน่าจะไม่พึงพอใจผลงานของตนเอง
“เมื่อถามว่าหลังจากรัฐบาลคลายล็อคแล้ว มีความพยายามลดรายจ่ายใดที่ไม่จำเป็นลงบ้างหรือไม่ พบว่าครัวเรือนไทยจำนวนไม่น้อยมีความพยายามอย่างน่าชื่นชม 47% พยายามลดรายจ่ายค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม 40% ลดค่าล็อตเตอรี่ 36% ลดค่าหวยใต้ดิน พอๆ กับที่พยายามลดการช็อปสินค้าออนไลน์ 30% ลดค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 11% ลดค่าบุหรี่ แต่ถึงจะพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงมากเท่าไรก็พบว่า หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่กลับประเมินว่า ตัวเองจะอยู่รอดได้ยาก เพราะ 14% ตอบว่าครอบครัวจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือน 29% ตอบว่าอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน 17% อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน และ 9% อยู่ได้ไม่เกิน 12 เดือน แสดงว่า 70% ของครัวเรือนไทยจะลำบากยากขึ้นแน่ ๆ หากมีการระบาดรอบที่สอง” นายธนากร กล่าว
นางเอือก ผลเจริญ ภาคีเครือข่ายมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ในอดีตสามีของตนติดสุรา บุหรี่ และเล่นหวยอย่างหนัก กระทั่งครอบครัวลำบาก ประสบปัญหาทางการเงิน เกือบจะต้องเลิกรากัน แต่จุดเปลี่ยนของการเลิกอบายมุขทั้งหมด เกิดจากความกังวลเป็นห่วงอนาคตของลูก ลูกอาจไม่ได้เรียนหนังสือ สามีจึงค่อย ๆ เลิกอบายมุขทั้งหมด เริ่มเก็บออมเงิน บางส่วนเอาไปใช้หนี้ และเริ่มซื้อที่นาในต่างจังหวัดเพื่อทำการเกษตร จนทุกวันนี้ตนและครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้นมาก ตนจึงอยากถือโอกาสนี้เชิญชวนทุกครอบครัวมาเก็บออมเงินให้เป็นความปกติใหม่ทางการเงิน อุดรอยรั่วในการใช้ชีวิต โดยตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อรองรับทุกวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นางพัณนิดา วังเวงจิต ผู้นำชุมชนบ้านคาบเหนือ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่บางครอบครัวกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤต เช่น เกิดภาระหนี้สินจากการเล่นหวยเกินขนาด หรือดื่มเหล้าจนไม่เป็นอันทำมาหากิน ทำให้ครอบครัวมีรายรับไม่พอกับรายจ่าย การที่ชุมชนมีระบบการเงินของตนเองเปรียบเสมือนเป็นแหล่งกักเก็บน้ำของชุมชน ที่คอยจุนเจือไม่ให้โอ่งเก็บน้ำที่กำลังแห้งขอดของครัวเรือนต้องแห้งสนิท ได้ช่วยให้หลายครอบครัวสามารถยืนหยัดจนฝ่าพ้นวิกฤตมาได้ ในช่วงโควิดนี้ก็เช่นเดียวกัน หากชุมชนไหนมีระบบการดูแลกันที่ดี มีการบริหารจัดการตนเองที่ดี โปร่งใสไว้ใจได้ ก็จะช่วยให้สมาชิกในชุมชนเกิดความอุ่นใจว่า ถึงวิกฤตจะรุนแรงเพียงใด แต่เราก็ยังสามารถจะนำพาทุกคนข้ามผ่านมันไปด้วยกันได้