“หมอประกิต” ยันธุรกิจยาสูบไม่ได้รับกระทบจาก “โควิด” ยังมีกำไรมหาศาล ทั้งยังเป็นสินค้าอันตรายสุขภาพ ไม่ควรเยียวยาเลื่อนขึ้นภาษี 40% อัตราเดียวไปอีก 1 ปี ส่วนโรงงานยาสูบกำไรหดหาย เพราะโครงสร้างภาษี การเลื่อนขึ้นภาษีไม่ช่วยอะไร ต้องทำให้บุหรี่นอกรับผลกระทบด้วย หากไม่ขึ้นภาษีจะทำให้ราคาบุหรี่ถูก คนก็ไม่เลิกสูบ
จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเลื่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ 40% อัตราเดียวจากวันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นวันที่ 1 ต.ค. 2564 ซึ่งจากเดิม 2 ระดับ คือ 20% สำหรับบุหรี่ราคาต่ำกว่าซองละ 60 บาท และ 40% สำหรับบุหรี่ราคาซองละ 60 บาท เพื่อลดผลกระทบผู้ประกอบการ ทั้งในประเทศและนำเข้า รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จากสถานการณ์โรคโควิด-19
วันนี้ (8 ก.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ตนมองว่าสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ธุรกิจยาสูบก็ไม่ได้รับผลกระทบเหมือนธุรกิจอื่น เพราะคนก็ยังซื้อสูบกัน และยังมีกำไรมหาศาล อย่างข้อมูลของบริษัทยาสูบข้ามชาติรายใหญ่โดยรวมทั่วโลก ก็ยังคงกำไร อีกทั้ง “บุหรี่” ไม่ใช่สินค้าจำเป็น และเป็นสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้คนเกิดการเสพติด คนเจ็บป่วยและเสียชีวิต จึงไม่ใช่ธุรกิจที่รัฐบาลจะต้องไปเห็นใจ หรือให้การช่วยเหลือเหมือนธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งแน่นอนว่า การขึ้นอัตราภาษีย่อมต้องเกิดผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ เนื่องจากหากฝ่ายขายไม่ได้รับผลกระทบ ผู้บริโภคก็จะยังคงสูบต่อไป หากไม่กระทบก็จะมีผู้สูบบุหรี่เป็น 10 ล้านคนไปเรื่อยๆ
เมื่อถามว่า การเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่มีการเลื่อนมาแล้วจาก 1 ต.ค. 2562 มาเป็น 1 ต.ค. 2563 และยังมีการเลื่อนต่อออกไปอีก 1 ปีเช่นนี้ มีอะไรแอบแฝงหรือซ่อนเร้นหรือไม่ ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า แอบแฝงซ่อนเร้นหรือไม่ ตนไม่รู้ แต่อย่างแอฟริกาใต้เขาห้ามขายบุหรี่เลย ยืนยันว่า ผู้ประกอบการยาสูบไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เพราะปกติกำไรมหาศาล และไม่ใช่สินค้าจำเป็น นอกจากนี้ มองว่ายังควรต้องขึ้นภาษียาเส้นด้วย
เมื่อถามว่า จะเดินหน้าเรื่องนี้ต่ออย่างไร ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า มติ ครม.ออกมาแล้ว คงแก้อะไรไม่ได้ แต่ก็ต้องให้ข้อมูลเพื่อรู้ว่า ความจริงเป็นเช่นนี้ ส่วนการระบุว่า เพื่อช่วยผู้ประกอบการ จริงๆ บอกว่าโรงงานยาสูบก็จะเจ๊งอยู่แล้ว ต่อให้เลื่อนการขึ้นภาษีไปอีก 1 ปี ก็เจ๊ง เพราะจากกำไร 8-9 พันล้านบาท เหลือ 7-8 ร้อยล้านบาท แต่บริษัทต่างชาติที่นำเข้าไม่ได้กำไรลดลง แต่เพิ่มขึ้น แสดงว่าโครงสร้างภาษี 20 และ 40 นี้ มีปัญหาอยู่แล้ว ต้องมาคิดใหม่ให้แฟร์ ไม่ให้กระทบเฉพาะบุหรี่ไทย จากการที่บริษัทบุหรี่นอกลดราคาลงมา ส่วนเรื่องชาวไร่ยาสูบเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ แต่ตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ก็ระบุชัดเจนว่า รัฐบาลต้องไปช่วยเรื่องการเปลี่ยนอาชีพ หรือการปลูกพืชทดแทน ไม่ใช่คงอยู่ในอาชีพนี้ มิเช่นนั้น การสูบบุหรี่ก็ไม่ลดลง ถ้าจะไม่ขึ้นภาษีเพื่อลดผลกระทบผู้ประกอบการชาวไร่ สุดท้ายก็จะสะท้อนกลับมากระทบสุขภาพปรชาชน เพราะราคาถูกทำให้ไม่เลิกสูบ