“หมอเอ้ก” ชวนคนหายป่วยโควิด-19 และคนในครอบครัวที่สัมผัสใกล้ชิด ร่วมศึกษาวิจัยภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคได้หรือไม่ ป้องกันได้นานเพียงใด รับกลุ่มละ 500 คน คาดหากผ่าน คกก.วิจัยในมนุษย์ เริ่มได้ใน ก.ค.นี้ เก็บเลือด 30 ซีซี 3 ครั้ง รอบ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน ยันไทยคนป่วยน้อยลงไม่ใช่อุปสรรค
วันนี้ (3 ก.ค.) นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โครงการวิจัยฮีโร่โควิด-19 เรื่อง การศึกษาภูมิคุ้มกันในผู้ที่หายจากโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สธ. และหน่วยไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จำนวน 3 ล้านบาท โดยขอเชิญชวนกลุ่มบุคคลที่เคยได้รับการตรวจยืนยันว่าติดโรคโควิด-19 และหายแล้ว ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ปัจจุบันกลับไปอยู่ตามภูมิลำเนา และอาจจะยังได้รับการเหยียดไม่อยากให้อยู่ร่วมชุมชนเดียวกัน ทั้งที่อยากยกย่องให้เป็นฮีโร่โควิด เพราะเลือดหรือภูมิคุ้มกันที่อาจจะเกิดขึ้นในกลุ่มบุคคลเหล่านี้ อาจจะเป็นกุญแจเล็กๆ ที่จะช่วยไขคำตอบ
“อยากรณรงค์ให้ผู้ที่เคยติดโรคโควิดทุกคน และคนที่เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ยืนยันการติดเชื้อ เข้ามาบริจาคเลือดประมาณคนละ 30 ซีซี หรือราว 5 ช้อนชา เพื่อศึกษาถึงภูมิคุ้มกันว่าสามารถป้องกันหรือป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ และภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจะสามารถป้องกันได้นานเพียงใด” นพ.คณวัฒน์ กล่าว
นพ.คณวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ หากได้รับอนุญาต คาดว่า จะเริ่มต้นการศึกษาวิจัยได้ภายใน ก.ค.นี้ โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าร่วมวิจัย ต้องมีอายุ 18-60 ปี เคยได้รับการตรวจยืนยันติดโรคโควิด-19 และหายดีแล้ว รวมถึงผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว หรืออยู่ร่วมบ้านเดียวกัน เพื่อศึกษาดูว่ากลุ่มคนที่ไม่เคยติดเชื้อ แต่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และถ้ามีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติเกิดขึ้นแล้ว จะสามารถป้องกันได้หรือไม่ เพื่อนำข้อมูลปรับใช้ในเชิงนโยบาย โดยต้องการอาสาสมัครกลุ่มละ 500 คน รวม 1,000 คน จะมีการเจาะเลือดตรวจ 3 รอบ ที่ระยะ 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน
“แม้ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาวิจัย เพราะสิ่งที่ต้องการศึกษา คือ เมื่อติดเชื้อระยะหนึ่งแล้ว จะสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในไทยกว่า 3,000 ราย สามารถเข้าร่วมการศึกษาวิจัยได้ โดยจะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของผู้ที่เข้าร่วมวิจัย ไม่ต้องกังวลว่าสังคมจะเกิดการตีตรา ผู้สนใจสามารถสอบถามได้ที่ โทร. 02-256-4132 ต่อ 404 หรือ อีเมล ChulaCovid@gmail.com” นพ.คณวัฒน์ กล่าวและว่า ต้องการให้ผู้ที่เคยติดเชื้อและผู้ใกล้ชิดเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะผลการวิจัยจะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของไทย ที่จะทำให้รู้ว่าระดับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติมีมากน้อย ป้องกันได้จริงหรือไม่ และป้องกันได้นานเท่าไร จะเหมือนการฉีดป้องกันไวรัสตับอักเสบบีที่อยู่ได้หลายปี หรือเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปี