“ธนกร ศรีสุกใส” ผู้จัดการกองทุนกองทุนสื่อปลอดภัยฯ ป้ายแดง ลั่นผลักดันปัญหาสื่อวาระแห่งชาติ เร่งสร้างเนื้อหาสื่อดี ชี้ให้สังคมเห็นอะไรเหมาะสม-ไม่เหมาะสม
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่องผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้ง นายธนกร ศรีสุกใส ดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คนใหม่ แทน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2563 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป โดยระบุว่า นายธนกร ศรีสุกใส เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์การคัดเลือกของคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนฯ แล้ว
ด้าน นายธนกร กล่าวว่า ดีใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานด้านการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ นับว่าเป็นงานที่ท้าทายความสามารถมาก เพราะความสำเร็จของงานที่ทำจะเป็นผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อคนในสังคม มีเดิมพันสูง ตนจะเข้ามาทำงานในวันที่ 1 ก.ค. นัดประชุมพร้อมศึกษาการทำงานจากหน่วยงานทุกๆ ฝ่าย สำหรับภารกิจแรกๆ ของการทำงานจะยึดภารกิจหลักของกองทุนคือการขับเคลื่อนวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน รวมกับสิ่งที่ตนตั้งใจจะดำเนินการ คือ การส่งเสริมให้เกิดสื่อพัฒนาปลอดภัย พัฒนาศักยภาพบุคลากรและงานวิจัย การรู้เท่าทันสื่อ ในเด็กเยาวชนท่ามกลางสื่อที่หลากหลายที่มีทั้งจริงและเท็จ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และให้กองทุนฯ เป็นหน่วยประสานงานระหว่างกับทุกภาคส่วนเพื่อให้องค์กรเป็นที่รู้จัก เข้าถึงได้ เนื่องจากพบว่า มีกลุ่มไม่ถึงร้อยละ 30 ที่รู้จักการทำงานของกองทุน หากไม่ประชาสัมพันธ์ให้คนรับทราบ คนก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ การมอบโอกาสให้คนกลุ่มที่หลากหลายได้พัฒนาสื่อดีก็ไม่เกิดขึ้น
ส่วนงานที่ให้ความสำคัญคือ การขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อดี เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้พัฒนาศักยภาพ โดยจะสร้างความรับรู้และเข้าใจการทำงานระหว่างบุคลากรในองค์กรที่ประกอบด้วยคณะกรรมการชุดใหญ่คณะกรรมการชุดบริหารต่างๆ และการปฏิบัติงานภายในสำนักงาน ให้มีความเชื่อมโยงประสานงานกันอย่างใกล้ชิดขณะที่เรื่องสำคัญ คือ การสร้างการรับรู้เท่าทันสื่อให้กับคนไทยทั้งสื่อออนไลน์และสื่อหลัก โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่ยังไม่กฎหมายกำกับที่ชัดเจนทำให้พบสิ่งไม่เหมาะสมทั้งเรื่องเพศ การใช้ภาษาหยาบคาย รุนแรง ขายของแบบไม่มีกติกา บรรยายสรรพคุณเกินจริง การทำร้ายหลอกลวง ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกิดขึ้นทั้งการถ่ายภาพแชร์ลงในโซเซียลโดยไม่รับอนุญาต ขณะที่สื่อหลักๆ เช่น โทรทัศน์ ที่เห็นชัดเจนคือการนำคลิปจากโซเซียลข่าวอาชญากรรมที่รุนแรงมานำเสนออย่างไม่เหมาะสม ประหนึ่งว่าฆ่ากัน เป็นเรื่องปกติ อีกทั้งยังทำภาพสามมิติแสดงวิธีฆ่าให้เหมือนกับการดูละคร ทำให้คนทั่วไปเกิดการซึมซับมีทัศนคติความรุนแรงมากขึ้น
“ผมจะใช้โอกาสนี้ทำหน้าที่สร้างเนื้อหาดีๆ มากขึ้น ชี้ให้เห็นว่า อะไรเหมาะสม อะไรไม่ดี ให้คนดูได้วิเคราะห์ แยกแยะเลือกรับสื่อได้ และมีแนวร่วมเตือนองค์กรวิชาชีพที่นำเสนอสื่อไม่เหมาะสม เปิดพื้นที่ให้สื่อน้ำดีได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือ ให้คนที่ไม่มีทุนแต่มีฝีมือและอยากผลิตสื่อได้มีช่องทางนำเสนอ และจะไม่มีการเข้าถึงแบบกระจุกตัว การให้ทุนจะมีความหลากหลาย เพราะเราจะปรับเปลี่ยนสื่อสารสาธารณะให้เข้าถึงแบบหลายช่องทาง มีฐานข้อมูลมีเดียเซนเตอร์ ส่งออกไปยังสาธารณะแบบรายสัปดาห์หรือรายเดือน รวมถึงการจัดทำข้อแลกเปลี่ยนความร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ผลักดันเรื่องของสื่อให้กลายเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดการพัฒนาของสังคมและประเทศชาติ” ผจก.กองทุนสื่อปลอดภัยฯ กล่าวทิ้งท้าย