โดย...นพ. ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอกและหัวใจ ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
เป็นที่ทราบกันดีว่าการผ่าตัดในช่องทรวงอกนั้น การผ่าตัดแบบเปิดเป็นการผ่าตัดพื้นฐานที่นิยมทำกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยต้องเกิดอาการเจ็บปวดบริเวณแผลผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นยาวนาน รวมถึงโอกาสติดเชื้อที่แผลผ่าตัด ปอดติดเชื้อ และอื่นๆ แต่ด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ในปัจจุบันมีการพัฒนามาก ส่งผลทำให้วิธีการผ่าตัดมีการเปลี่ยนแปลงมาถูกแทนที่ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องเพิ่มมากขึ้น
การผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้น มีผลดี คือ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล เสียเลือดน้อยลง รวมไปถึงลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ได้นำการผ่าตัดทางเลือกใหม่ที่เรียกว่า การผ่าตัดส่องกล้องในทรวงอกแบบไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ มาริเริ่มในประเทศไทย
วิธีดังกล่าวเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งขณะผ่าตัดจะใช้วิธีดมยาสลบแบบปริมาณไม่มาก ทำให้ผู้ป่วยเคลิ้ม และไม่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจขณะผ่าตัด เทคนิคนี้สามารถลดอาการบาดเจ็บทางเส้นเสียง รวมไปถึงสามารถลดภาวะแทรกซ้อนจากยาที่ใช้ดมยาสลบทั่วไป
นอกจากนี้ แผลผ่าตัดบริเวณข้างลำตัวมีเพียงตำแหน่งเดียว ขนาด 3 - 4 ซม. ซึ่งจะสามารถลดผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้นจากการผ่าตัดแบบเปิด ทั้งนี้ แพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาว่าคนไข้เหมาะสมกับการผ่าตัดชนิดไหนที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การผ่าตัดส่องกล้อง ชนิดนี้สามารถทำได้ในหลายๆ โรค เช่น 1.มะเร็งปอดระยะเริ่มต้น (lung cancer) 2.โรคลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด (recurrent pneumothorax) 3.โรคเนื้องอกหรือจุดในปอด (solitary lung nodule) 4.หนองในเยื่อหุ้มปอดระยะเริ่มต้น ( Empyema thoracis) และ 5.โรคเนื้องอกในช่องทรวงอก (mediastinum tumour eg. thymoma)
อาการของโรคปอดและในทรวงอกเป็นอย่างไรและทำไมควรต้องตรวจพบในระยะแรก
ผู้ป่วยของโรคปอด มักไม่มีอาการ หากมีอาการมักจะมีอาการอย่างเช่น เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง หรือ เจ็บแน่นหน้าอก ในผู้ป่วยบางราย เมื่อแสดงอาการแล้ว ก้อนอาจจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ส่งผลทำให้การรักษาอาจได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
แล้วใครบ้างควรได้การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคน 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ผู้ที่มีอาการทางระบบหายใจ ได้แก่ : กลุ่มผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะไอมีเสมหะ ไอเป็นเลือด เหนื่อย เจ็บหน้าอก
2. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง ได้แก่ : กลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่ ทำงานในโรงงานที่มีมลภาวะ ควัน ก๊าซเคมีที่เป็นพิษต่อทางเดินหายใจและปอด,ทำงานในเหมืองแร่ โรงโม่หิน โรงผลิตซีเมนต์ ,ทำงานในบรรยากาศ ที่อาจปนเปื้อนสารกัมมันตภาพ, ผู้ป่วยที่มีพ่อ หรือ แม่เป็นโรคมะเร็งปอด
คนที่ไม่มีอาการ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ควรหมั่นดูแลสุขภาพ และตรวจเช็กร่างกายเป็นประจำ เพราะว่ามะเร็งปอดสามารถพบได้ในคนที่ไม่สูบบุหรี่ หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ หากตรวจพบโรคขณะที่ยังไม่มีอาการ โอกาสหายขาดจะมีมากขึ้น