เพศชาย
อันดับ 1 มะเร็งปอด
แม้ตัวเลขของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดในประเทศไทยนั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ แต่จำนวนของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไทยจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ในทุกช่วงวัย อย่างไรก็ตาม หากลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ลงได้ อีกทั้งระมัดระวังอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง ที่โดนความร้อนสูง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดได้ค่อนข้างมาก
อันดับ 2 มะเร็งตับ
สาเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดมาจากโรคไวรัสตับอักเสบ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าตัวเองเป็น เพราะโรคนี้จะไม่ค่อยแสดงอาการอะไร ทำให้คนที่เป็นไวรัสตับอักเสบนั้น มีโอกาสที่จะเป็นตับแข็งได้ตั้งแต่อายุยังน้อย จนกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด เพราะฉะนั้นใครที่รู้ตัวว่ามีประวัติครอบครัวเคยเป็นไวรัสตับอักเสบ ก็ควรไปตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ
อันดับ 3 มะเร็งท่อน้ำดี
ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพญาธิใบไม้ ซึ่งพญาธิใบไม้จะพบได้ในเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานของดิบ เช่น ปลาร้า ปลาดิบที่เป็นปลาน้ำจืด วิธีป้องกันนั้นง่ายกว่ามะเร็งชนิดอื่น คือแค่เปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ให้ปรุงสุกก่อนทุกครั้ง ก็สามารถห่างไกลจากมะเร็งท่อน้ำดีได้
เพศหญิง
อันดับ 1 มะเร็งเต้านม
ปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม มาจากการได้รับฮอร์โมนเพศหญิงในปริมาณมากเป็นเวลานาน เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด การฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ไข่ตกสำหรับผู้หญิงที่มีบุตรยาก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านพันธุกรรมอีกด้วย อย่างไรก็ตามมะเร็งเต้านมนั้นสามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ โดยการใช้มือคลำ หรือไปตรวจที่โรงพยาบาลเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
อันดับ 2 มะเร็งปากมดลูก
เดิมทีมะเร็งปากมดลูก เคยเป็นมะเร็งที่ผู้หญิงไทยเป็นเยอะที่สุด แต่ปัจจุบันมีจำนวนของผู้หญิงไทยที่เป็นโรคนี้ลดลง เพราะมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น ทำให้หลายคนเปิดใจ มีความกล้าที่จะไปตรวจมะเร็งปากมดลูกที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ที่สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-12 ปี ซึ่งวัคซีนตัวนี้จะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต
อันดับ 3 มะเร็งลำไส้
ผลการวิจัยพบว่า คนที่รับประทานผัก ผลไม้ มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้น้อยกว่าคนที่ชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด อย่างไรก็ตามคนที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจอุจจาระเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระหรือไม่ นอกจากการตรวจหาเลือดในอุจจาระแล้ว การส่องกล้องลำไส้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถตรวจหามะเร็งลำไส้ได้ดีอีกด้วย