xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัสตับอักเสบก่อตับแข็ง-มะเร็งตับ ระวังถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เตือนไวรัสตับ ก่อตับอักเสบ ตับแข็ง จนถึงมะเร็งตับได้ ถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ เผยไวรัสตับอักเสบบีมีวัคซีนป้องกัน ส่วนไวรัสซีมียารักษา

วันนี้ (13 มิ.ย.) นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณี “ตั้ว ศรัณยู” นักแสดงชื่อดังเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ว่า ไวรัสตับอักเสบ สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้ และเป็นสาเหตุนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ โดยมี 5 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และ อี โดยไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี สามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 ระยะ คือ โรคตับอักเสบเฉียบพลัน และโรคตับอักเสบเรื้อรัง โดยอาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา เซลล์ตับถูกทำลาย ซึ่งผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบ บี มีเพียงร้อยละ 5-10 ที่มีโอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรัง

ส่วนโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง จะมีอาการนานเกินกว่า 6 เดือน โดยแบ่งได้อีกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ 1) ชนิดตับอักเสบเรื้อรังไม่รุนแรง (Chronic Persistent) แบบค่อยเป็นค่อยไป 2) ชนิดตับอักเสบเรื้อรังแบบรุนแรง (Chronic Active Hepatitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดจากตับถูกทำลายไปมากและเกิดอาการตับแข็ง ในผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเกิดขึ้น แต่เชื้อไวรัสจะทำลายตับไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการตับแข็ง และท้ายสุดก็จะกลายเป็นมะเร็งตับ

นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคไวรัสตับอักเสบในประเทศไทย พบว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ประมาณ 2.2-3 ล้านคน มีอัตราความชุกประมาณร้อยละ 4-5 ของประชาชนที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 ทำให้ปัจจุบันพบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ในประชากรที่อายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นส่วนมาก ส่วนประชาชนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2535 ได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนของประเทศ ทำให้พบอัตราความชุกที่ลดลง ร้อยละ 0.6 ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี คือ กลุ่มประชากรที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 ซึ่งต้องมาตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 7.5 แสนคน พบมากในผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด

สำหรับไวรัสตับอักเสบ ซี ไม่สามารถพยากรณ์โรคได้ว่าจะเป็นแบบไวรัสตับอักเสบ บี เนื่องจากหลังการติดเชื้ออาจเกิดมะเร็งตับ โดยไม่ต้องมีภาวะตับแข็งก่อนได้ และการรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี ที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ สามารถรักษาให้หายได้ เพียงรับประทานยาต่อเนื่อง 4 เดือน

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสมาคมตับแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และมีการผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อให้ทุกกลุ่มประชากรได้รับสิทธิประโยชน์มาอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคม 2563 นี้ จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ได้ฟรี ณ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น