รศ.พญ.กลีบสไบ สรรพกิจ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
โรคมะเร็งในเด็ก มีโอกาสพบได้น้อย แต่ก็มีเด็กบางคนโชคร้ายเป็นมะเร็งตั้งแต่เกิด สร้างความทุกข์ทรมานใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก แล้วเราจะรับมือกับโรคร้ายนี้กันได้อย่างไร
ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณปีละ1,000 - 1,200 รายโรคมะเร็งในเด็กพบได้ในเด็กทุกวัยตั้งแต่แรกเกิดโดยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันพบได้มากกว่าร้อยละ 50 ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมด รองลงมาได้แก่ โรคมะเร็งสมอง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งต่อมหมวกไต
โรคมะเร็งในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งในเด็กยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จากการศึกษาพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เด็กบางกลุ่มมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งได้มากกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป เช่น เด็กที่สัมผัสกับสารกัมมันตภาพรังสี หรือได้รับสารรังสีประเภทแกมมาตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่สัมผัสกับสารเคมีในปริมาณมากและเป็นเวลานาน เช่น ยาปราบวัชพืช ยาฆ่าแมลงต่างๆ อีกทั้งยังมีโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น โรคกลุ่มอาการดาวน์ โรคท้าวแสนปม ซึ่งเด็กที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งมากกว่าประชากรเด็กโดยทั่วไป
จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กป่วยเป็นโรคมะเร็ง
อาการและอาการแสดงของโรคมะเร็งในเด็ก มีค่อนข้างหลากหลาย เช่น มีอาการซีด ติดเชื้อได้ง่าย เลือดออกผิดปกติ หรือเด็กบางรายอาจมีก้อนตามที่ต่างๆของร่างกาย ปวดกระดูก มีไข้ น้ำหนักลด เบื่ออาหารหรือเหงื่อออกมากตอนกลางคืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งที่เด็กเป็นและระยะของโรค
เมื่อเข้ารับการรักษามีโอกาสหายหรือไม่
หากตรวจพบตั้งแต่เป็นโรคในระยะแรก แล้วรีบให้การรักษาอย่างรวดเร็ว ถูกต้องเหมาะสม ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ตามในเด็กที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การผ่าตัด และ/หรือการฉายรังสี โรคมีการดำเนินไปรุนแรงขึ้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดร่วมด้วย เพื่อจะทำให้เด็กมีโอกาสหายขาดจากโรคมะเร็งมากขึ้น นอกจากนี้แพทย์จะต้องให้ความสำคัญในการดูแลทางจิตใจทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวด้วย
ทั้งนี้พ่อแม่ผู้ปกครองท่านใด พบว่าบุตรหลานของท่านมีอาการผิดปกติควรจะรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ สุขภาพดีเริ่มที่ตัวเรา