“หมอรามาฯ” เผยเคสแรกของโลก ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เร่งด่วน จากน้องชาย 5 ขวบ ติดโควิด-19 ให้พี่สาว 7 ขวบที่ป่วยธาลัสซีเมีย สำเร็จ ระบุเตรียมร่างกายผู้ป่วยพร้อมแล้ว แต่กลับมาเจอป่วยโควิดก่อน โชคดีตรวจไขกระดูกไม่มีเชื้อโควิด จึงต้องเดินหน้าต่อ หากไม่ปลูกถ่ายอาจเสียชีวิตได้ จากการรับยาคีโม
วันนี้ (23 มิ.ย.) ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนเคสแรกของโลก จาก ด.ช.ศิลา บุญกล่อมจิตร หรือ น้องจีโอ้ ผู้บริจาคไขกระดูกวัย 5 ขวบ ขณะติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษา ด.ญ.จินตนาการ บุญกล่อมจิตร หรือ น้องจีน พี่สาววัย 7 ขวบ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเคสนี้มีความท้าทายและซับซ้อนมาก ในวันที่ต้องเก็บสเต็มเซลล์น้องจีโอ้ กลับตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 น้องจีโอ้จึงอยู่ในฐานะผู้ป่วยอีกคน อีกทั้งผู้ป่วยสองคนยังอายุน้อยด้วยกันทั้งคู่คือ 5 ขวบ และ 7 ขวบ ทุกขั้นตอนจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ
“การจัดเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกจึงมีความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของสเต็มเซลล์ที่ได้จะมีเชื้อโควิด-19 หรือไม่ รวมถึงขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้องจีโอ้ต้องถูกกักโรคและส่งตัวไปรักษายัง รพ.รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะที่น้องจีนยังคงรักษาตัวอยู่ที่ รพ.รามาธิบดี และความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย ซึ่งเคสนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกสำหรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนจากผู้ป่วยโควิด-19” ศ.นพ.สุรเดช กล่าว
ศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า นอกจากความเสี่ยงของเชื้อโควิด-19 แล้ว การทำงานของคณะแพทย์ยังต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากน้องจีนได้เข้ากระบวนการเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการรับเคมีบำบัด หรือ คีโม จนครบเรียบร้อยแล้ว ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกันต่ำและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในเวลานั้น
รศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์ แพทย์ผู้ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด อาจารย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การจะหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคใหม่ให้น้องจีนขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 20,000-50,000 ราย ซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนการตัดต่อยีนไม่สามารถทำได้ สเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้จึงเป็นความหวังเดียว ทีมแพทย์ได้ประชุมและร่วมกันพิจารณาอย่างรอบครอบ จนมั่นใจแล้วว่าโอกาสสำเร็จในเคสนี้มีมากกว่าความเสี่ยง จึงตัดสินใจเจาะไขกระดูกเพื่อเก็บสเต็มเซลล์น้องจีโอ้ทันที วินาทีที่เราตรวจสเต็มเซลล์ที่ได้ และพบว่า เป็นสเต็มเซลล์ปลอดเชื้อโควิด-19 จึงปลูกถ่ายไปยังน้องจีนและประสบผลสำเร็จ ไม่เพียงเป็นความน่ายินดีที่เราสามารถช่วยชีวิตคู่พี่น้องได้อย่างปลอดภัย ยังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่น่าภาคภูมิใจของการแพทย์ไทยอีกด้วย
ด้านคุณพ่อของน้องจีนและน้องจีโอ้ ระบุว่า แพทย์ตรวจพบว่า น้องจีนป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย มีแนวโน้มตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ ซึ่งปลายปี 2561 แพทย์แจ้งผลการตรวจเนื้อเยื่อของพี่จีนและน้องจีโอ้เข้ากันได้ ซึ่งโอกาสที่พี่น้องจะมีเนื้อเยื่อตรงกันเพียงแค่ร้อยละ 25 ครอบครัวจึงตัดสินใจให้น้องจีนเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จึงได้รับคิวผ่าตัดใน เม.ย.ที่ผ่านมา แต่เมื่อใกล้ถึงวันปลูกถ่าย ปรากฏว่าน้องจีโอ้ติดเชื้อโควิด-19 ภรรยาเองก็ติดเชื้อ ทุกคนต้องแยกจากกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด แต่ครอบครัวได้รับการดูแลจากทีมแพทย์อย่างดี และได้เข้ามาพูดคุยให้ความเชื่อมั่นว่าการผ่าตัดมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากกว่า ส่วนการรักษานี้มูลนิธิรามาธิบดีฯ เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ช่วยแบ่งเบาครอบครัวได้เยอะมาก
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ สามารถบริจาคที่ ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี ธนาคารกสิกรไทย บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 879-2-00448-3 ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 026-3-05216-3 ธนาคารกรุงเทพ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 090-3-50015-5 บริจาคออนไลน์ www.ramafoundation.or.th โทร. 02-201-1111