xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยงลูกโตไปไม่ ‘เหยียด’ !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เป็นเวลาเกือบเดือนแล้วที่ “จอร์จ ฟลอยด์” ชาวอเมริกันผิวดำ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมินนิอาโปลิสจับกุมตัว โดยใช้เข่ากดที่คอจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต จนนำไปสู่การประท้วงต่อต้านการเหยียดผิว ลุกลามสู่การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำทั่วโลก และบานปลายกลายเป็นความรุนแรงในหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา

จากกรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสหรัฐฯ มีการพูดถึงเรื่องการเสนอกฎหมายใหม่ และการเปลี่ยนวิธีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ

ปัญหาเรื่องการ “เหยียดผิว” ของคนอเมริกันมีมานานเหลือเกิน

แต่จะว่าไปปัญหาเรื่องการ “เหยียด” ก็มีมาทุกยุคสมัย ทุกประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในบ้านเรา

การเหยียดในบ้านเรามีมานานมากในสังคมไทย

ประเภทแรก – การเหยียดเพศ

เป็นเรื่องที่พบมากในสังคมไทย และก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยยังคงมีค่านิยมมาจนถึงทุกวันนี้ เห็นได้จากสำนวน “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” สื่อถึงการมองว่าเพศชายอยู่เหนือกว่าเพศหญิง ทั้งที่จริง ๆ แล้วผู้หญิงบางคนอาจมีความสามารถมากกว่าผู้ชาย เพียงแต่เธอไม่มีโอกาสได้แสดงมันออกมา หรือถูกปิดกั้นด้วยค่านิยมนี้

แล้วไหนยังจะเรื่องเพศที่สาม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีการพูดว่ามีการยอมรับกันมากขึ้น แต่สุดท้ายการเหยียดเพศทางเลือกก็ยังมีอยู่ให้เห็นบ่อย ๆ

ประเภทที่สอง – การเหยียดรูปลักษณ์

ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอก รูปร่าง สีผิว เป็นการเหยียดที่มีพื้นฐานมาจากค่านิยมที่มองว่ารูปร่างที่ดี สีผิวที่ดีควรเป็นเช่นไร รูปร่างต้องผอม ผู้ชายต้องมีกล้าม มีซิกแพค คือสิ่งที่ดูดี ตัวเอกในละครก็จะเลือกให้มีลักษณะในทำนองเดียวกัน ส่วนความอ้วนหรือผิวสีเข้มก็ถูกมองว่าไม่หล่อ ไม่สวย และคนที่มีรูปลักษณ์ที่ไม่สวยไม่หล่อ ตัวเตี้ย หรือมีลักษณะด้อยบางประการ ก็จะถูกนำไปแสดงเป็นตัวตลก เมื่อเด็กๆ ได้ซึมซับสิ่งต่างๆ เหล่านี้มากๆ เข้า ก็จะเกิดเป็นค่านิยมที่สืบทอดต่อๆ กันมา เราจึงมักได้ยินคำพูดล้อเลียนเพื่อนในกลุ่มเด็กด้วยกันประมาณว่า อ้วนเป็นหมู , ดำเป็นอีกา, เจ้าแว่นสี่ตา , ผมหยิกเป็นฝอยขัดหม้อ , เตี้ยหมาตื่น , ผอมเป็นกุ้งแห้ง ฯลฯ

ประเภทที่สาม – การเหยียดเชื้อชาติ

เป็นการเอาลักษณะที่ถูกตีความทางเชื้อชาติ มาแปลงเป็นข้อเสียใหญ่ และให้ความหมายแบบเหมารวมว่าคนที่ทำแบบนี้ เชื้อชาตินี้ อาศัยอยู่ที่นี่จะต้องมีเป็นแบบนี้ไปซะหมด เช่น ลาว, เจ๊ก, แขก, ไอ้มืด ฯลฯ

ความจริงยังมีการพูดเหยียดอีกหลายประเภท โดยบางทีอาจเกิดขึ้นตามสถานการณ์ หรือเหยียดเพื่อสร้างความตลกขบขัน แล้วบางครั้งการเหยียดก็อาจจะไม่ได้เกิดจากความคิดของตัวเอง แต่เกิดจากทำตามๆ กัน จนกลายเป็นพฤติกรรมรวมหมู่

สาเหตุของการเหยียด ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนผู้นั้นต้องการแสดงออกถึงความเหนือกว่าของตนเอง แต่ถ้ามองลึกลงไปอีก อาจจะพบว่าการที่คนเราต้องการเหนือกว่าคนอื่น อาจเป็นเพราะต้องการลบจุดด้อยของตนเอง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการป้องกันตนเองทางจิตใจของมนุษย์ก็เป็นไปได้

แต่กระนั้นก็มีการเหยียดเพื่อต้องการทำร้ายผู้อื่น เช่น ต้องการทำร้ายความรู้สึก ทำให้อับอาย หรือเพราะเกลียดชัง เป็นต้น

หรือแม้แต่เหยียดโดยไม่เจตนา เพราะถูกสิ่งเร้าภายนอกจนเกิดความเคยชินหรือสนุกปาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันถึงขนาดว่า AI (ปัญญาประดิษฐ์) ก็มีอคติและความคิดดูหมิ่นเหยียดหยามเพื่อนมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเหยียดเพศ เชื้อชาติ สีผิว นั่นเป็นเพราะมนุษย์นั่นเองที่สร้างปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา

มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Science เผยว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถซึมซับลักษณะนิสัยไม่ดีได้ผ่านภาษาและคำพูดที่ป้อนเข้าไป Joanna Bryson นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย Bath และหนึ่งในผู้ร่วมทำวิจัยบอกว่า ปัญญาประดิษฐ์อาจมีส่วนให้การเหยียดเชื้อชาติเพิ่มขึ้น เพราะปัญญาประดิษฐ์มีระบบอัลกอริทึ่มที่ไม่สามารถคัดค้านความคิดเชิงลบและอคติได้

ตัวอย่างเช่น คำว่า Male และ Female เมื่อป้อนคำว่า Male เข้าไปในระบบหรือ Search Engine ที่มี AI ทำงานเบื้องหลัง ระบบจะแสดงภาพของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อาชีพวิศวกร ส่วนคำว่า Female ระบบจะแสดงภาพศิลปะ ความสวยงาม และงานบ้านงานเรือน

อีกตัวอย่างคือคำว่า European American ระบบแสดงข้อมูลที่เป็นความสุข ในขณะที่คำว่า African American ระบบกลับแสดงคำที่ดูไม่เป็นมิตร

Sandra Wachter จากออกซ์ฟอร์ด อีกหนึ่งในคณะวิจัยบอกว่า โลกเราเต็มไปด้วยอคติ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แหล่งข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็เต็มไปด้วยอคติเช่นกัน จึงไม่แปลกที่อัลกอริทึ่มจะมีอคติไปด้วย

นั่นหมายความว่าต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอน Input ข้อมูลตั้งแต่แรกด้วย

เช่นเดียวกับการรับข้อมูลของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกัน แตกต่างกันทั้งทางด้านเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ฐานะ รูปลักษณ์ภายนอก รวมไปถึงการถูกเลี้ยงดูและบ่มเพาะมาอย่างไร หรือมีสภาพแวดล้อมแบบไหน ก็ล้วนแล้วแต่จะทำให้เด็กคนนั้น ๆ จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน

ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกของตัวเองเป็นเด็กเก่งกว่าคนอื่น

แต่หารู้ไม่ว่าพ่อแม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังเรื่องการ “เหยียด” ให้กับลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น พ่อแม่ปลูกฝังเรื่องการแข่งขันให้ลูกตั้งแต่เด็ก ต้องชนะเท่านั้น คนที่แพ้คือคนที่ด้อยค่า ไม่มีคนรัก ไม่เจริญก้าวหน้า เวลาจะทำสิ่งใดก็มักจะใช้รางวัลหลอกล่อ เช่น “ตั้งใจเรียนนะลูก เดี๋ยวพ่อซื้อรถบังคับให้ แพงด้วยนะ” หรือ พ่อบอกลูกว่า “พ่อขับรถยี่ห้อนี้นะแพงมาก ๆ เลย”

หรือพ่อแม่มักชอบนำลูกไปพูดเปรียบเทียบกับผู้อื่นว่าลูกดีกว่า เก่งกว่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดูถูกคนอื่นต่อมา

เด็กไทยวนเวียนกับเรื่องพวกนี้มาโดยตลอด และถูกละเลยทำให้มองเป็นเรื่องเล็ก ๆ โดยหารู้ไม่ว่าเด็ก ๆ ซึมซับอยู่ทุกวี่วัน

ทั้งที่สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรสื่อสารเพื่อเลี้ยงลูกโตไปไม่เหยียดผู้อื่น

หนึ่ง - บ้านต้องปลอดการ “เหยียด”

เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครอง อยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็ต้องทำตัวแบบนั้น พยายามชี้ให้ลูกเห็นว่า การเหยียดจะนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้น อาจยกตัวอย่างบางสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ให้ลูกได้รับรู้ และชวนพูดคุยก็ได้ว่าลูกคิดอย่างไร ถ้าลูกเป็นจอร์จ ฟลอยด์ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลูกจะทำอย่างไร และเมื่อเกิดสถานการณ์บานปลายเป็นความรุนแรง ลูกคิดเห็นอย่างไร พยายามให้ลูกได้มองเห็นถึงสถานการณ์ว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ลุกลามเป็นเพราะอะไร และชวนพูดคุยบทสรุปว่าทำไมเราจึงไม่ควรจะ “เหยียด” ผู้อื่น ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม

สอง – อย่ามองคนแค่เปลือก

การเลี้ยงดูมีความสำคัญมาก หลายครั้งที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่ได้มีเจตนา แต่หารู้ไม่ว่าวิธีสื่อสารของผู้ใหญ่ได้กลายเป็นการปลูกฝังสิ่งที่ไม่เหมาะสมไปซะแล้ว เช่น พ่อแม่บอกลูกว่า "ถ้าไม่ตั้งใจเรียน เดี๋ยวเป็นได้แค่ยามหรอก" หรือ “อย่าไปอยู่ใกล้คนเก็บขยะ เขาตัวเหม็น” ก็จะทำให้ลูกมองอาชีพเหล่านี้ในด้านลบ

แต่สิ่งที่พ่อแม่ควรจะเน้นปลูกฝังคือ อย่าตัดสินคนที่ภายนอก เพราะบางคนมีรูปร่างหน้าตาดูดุดันน่ากลัว หรือมีอาชีพเก็บขยะอาจจะแต่งตัวมอซอ แต่จริง ๆ แล้วเขาเป็นคนจิตใจอ่อนโยน ชอบช่วยเหลือผู้อื่นก็ได้ ดังนั้น เราอย่าตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่เราเห็นภายนอก แต่เราควรศึกษาเขาให้ดีว่าภายในจิตใจนั้นเขาเป็นคนเช่นไร

สาม – ความแตกต่างคือชีวิต

สอนให้ลูกเรียนรู้และยอมรับในความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ ควรให้ลูกได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมาล้วนแล้วต้องมีความแตกต่าง และความแตกต่างคือชีวิตมนุษย์ แตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา มีความเป็นพหุวัฒนธรรม รวมไปถึงรูปลักษณ์ภายนอก ฯลฯ แม้แต่ความคิดของคนเราก็ไม่เหมือนกัน คิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องแตกแยก และเราก็ไม่สามารถไปบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนเราได้ แต่จะทำอย่างไรให้เราสามารถใช้ความแตกต่างนั้นให้เปิดประโยชน์ร่วมกัน และสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้

สี่ – สอนลูกอย่าดูถูกคนอื่น

การดูถูกคนอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ พ่อแม่ต้องชี้ให้ลูกเอาใจเขามาใส่ใจเรา บางสถานการณ์ที่เราถูกผู้อื่นดูถูกว่าเราทำไม่ได้ เราขี้แพ้ เราไม่ได้เรื่อง ให้ถามลูกว่าเรารู้สึกอย่างไร และเมื่อไม่มีใครชอบ เราก็ไม่ควรทำกับผู้อื่นด้วย เพราะเราไม่มีวันรู้ว่าคนที่ถูกดูถูกเขาอาจจะไม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้ และอาจนำไปสู่ผลกระทบอื่นๆ เช่น ทำร้ายตัวเอง หรือกลายเป็นโรคซึมเศร้า

ห้า – ไม่ชมเชยลูกว่าเหนือกว่าคนอื่น

ข้อนี้มีความสำคัญเพราะส่วนใหญ่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่ตั้งใจ แต่มักชื่นชมลูกแบบโอเวอร์ เช่น ลูกเก่งมาก เก่งกว่าทุกคนเลย ลูกสวย/หล่อที่สุด ดีกว่าคนอื่น คนอื่นสู้ลูกไม่ได้เลย หรือแม้แต่การเน้นย้ำว่าบ้านมีฐานะ ลูกสามารถมีทุกสิ่งอย่างได้ ไม่เหมือนคนอื่นที่เขาไม่มีปัญญาซื้อหรอก คำพูดในท่วงทำนองนี้ มักส่งผลต่อเด็กเมื่อเติบโตขึ้น

หก – รู้เท่าทันสื่อ

ในยุคออนไลน์จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องการใช้สื่อให้มาก การใช้สื่อโซเชียลมีเดียยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะมีข้อมูลทั้งจริงและเท็จมากมายที่ใช้วิธีเหยียดผ่านออนไลน์ ฉะนั้น ควรจะต้องรับข้อมูลแบบมีสติ รู้เท่าทันสื่อ ไม่แชร์ข้อมูลใด ๆ ที่ไม่แน่ใจหรือไม่มีที่มา เพียงแค่ไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรส่งต่อข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องการเหยียด เพราะเท่ากับเราเองกำลังกลายเป็นผู้ส่งต่อความไม่เหมาะสม หรือการเหยียดไปสู่ผู้อื่น

ทุกครั้งที่คิดจะโพสต์สิ่งใดบนโลกออนไลน์ ต้องตระหนักด้วยว่าจะไปกระทบผู้อื่นหรือไม่ อย่าโพสต์โดยใช้อารมณ์ ความคึกคะนอง หรือใช้ความรู้สึกเป็นตัวตั้ง แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาจากการโพสต์ข้อความหรือแสดงความคิดเห็นด้วยว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มการเหยียด หรือรังแกกันบนโลกออนไลน์ (Bullying) หรือไม่

ทุกวันนี้ ผู้คนล้วนแล้วแต่เผชิญกับการเหยียดกันในหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว และอาจเป็นผู้เหยียดหรือผู้ถูกเหยียดไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็ได้ ถ้าเราไม่เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีคิด หรือไม่เริ่มจากทำให้ครอบครัวของเรา “ปลอดการเหยียด” แล้ว


ใครจะไปรู้ว่าว่าเมื่อวันหนึ่งหรือสถานการณ์หนึ่งที่การ “เหยียด” ถึงคราวสุกงอม อาจมีเหตุการณ์ลุกลามบานปลายอย่างที่คิดไม่ถึงเหมือนที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญ

เริ่มจากการเหยียดผิว แต่อาจจบลงที่การก่ออาชญากรรมก็ได้ !



กำลังโหลดความคิดเห็น