xs
xsm
sm
md
lg

รพ.กทม. มีห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตรวจเพิ่มเติมได้ 2 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผย โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร พัฒนาระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 แห่ง

วันนี้ (8 มิ.ย.) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 56/2563 โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะโฆษกกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนสำนัก ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

สำหรับวันนี้คณะทำงานด้านการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด รายงานต่อที่ประชุมถึงผลการปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เชิงรุก ในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance) ด้วยการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในน้ำลาย ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับการสนับสนุนชุดทดสอบจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 15,210 ชุด และต้องตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายให้ครบภายในเดือน มิ.ย.นี้ ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้เริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ มาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 63 นับถึงปัจจุบัน (7 มิ.ย. 63) ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้ว 7,255 ราย ผลการตรวจไม่พบเชื้อ 4,766 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 2,489 ราย คิดเป็นสัดส่วนการเก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้วประมาณ 47 % คงเหลือประมาณ 53 % ซึ่งจะสามารถเก็บตัวอย่างตรวจครบ 15,210 ราย ภายในเดือนนี้แน่นอน

ในส่วนคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ได้รายงานว่า ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สำนักการแพทย์ กทม. ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัด ปรับปรุงการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่างๆ เช่น การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลโดยการใช้ระบบ แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งติดตั้งในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทุกแห่ง การแบ่งปันการใช้วัสดุ อุปกรณ์การแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลในสังกัด การจัดตั้งคลินิกตรวจโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทุกแห่งโดยแยกส่วนออกจากการให้บริการผู้ป่วยทั่วไป การพัฒนารูปแบบการให้บริการรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การพัฒนาระบบการรักษาทางไกล Tele Medicine ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ประการสำคัญ คือ การดูแลให้บุคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ยังได้รายงานที่ประชุมว่า โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้พัฒนาระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 แห่งคือ โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ทำให้ปัจจุบันสถานพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร สามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้แล้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.คณะแพทยศาสตร์และวชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ โรงพยาบาลทั้ง 2.แห่งข้างต้น ส่วนห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลกลางซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนา หากแล้วผ่านการตรวจรับรอง กรุงเทพมหานครจะมีห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จำนวน 4 แห่ง ทั้งนี้หากการพัฒนาแล้วเสร็จและได้รับการรับรองจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป
















กำลังโหลดความคิดเห็น