ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเตือนสติคนไทยเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกยังระบาดหนัก แนะ การเปิดเรียน ดูตัวอย่างจากต่างประเทศ และนำมาปรับใช้เพื่อรับมือป้องกันการระบาดระยะที่ 2
วันนี้ (8 มิ.ย.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นด้วยการยกการเปิดเรียนของต่างประเทศ ว่า เข้ามีมาตรการเช่นไรในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังรุนแรงทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 1 แสนราย ถ้าหากโรงเรียนในประเทศไทยต้องการที่จะเปิดเทอม คงต้องศึกษาหาบทเรียนมาปรับใช้เพื่อการป้องกันไม่ให้ไวรัสกลับมาระบาดรอบ 2
ทั้งนี้ หมอยง ได้ระบุข้อความว่า “โควิด-19 วิกฤตยังไม่ผ่านพ้นถึงแม้ว่าประเทศไทย ไม่พบมีการระบาดในประเทศ
วิกฤต โควิด-19 ยังไม่ผ่านพ้น ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังมีผู้ป่วยมากกว่าวันละแสนรายที่มีรายงาน และที่ไม่มีรายงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยถึงแม้ว่าการระบาดจุดใหญ่จะลงสู่ประเทศอเมริกาใต้ ประเทศที่ใกล้บ้านเรา อินเดีย และ บังกลาเทศ ยังมีการระบาดอย่างรุนแรง และอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรานัก
มีพรมแดนธรรมชาติต่อเนื่องข้ามประเทศ โอกาสที่จะข้ามประเทศ แบบค่อยเป็นค่อยไป มีความเป็นไปได้ในปีนี้ เราจะต้องมีความเคร่งครัด ในการควบคุม ดูแลป้องกันไม่ให้เข้ามาระบาดในบ้านเรารวมทั้งทุกคนจะต้องดูแลสุขอนามัย ป้องกันตนเอง ช่วยกันเฝ้าระแวงระวัง
เมื่อมีการเปิดเทอม โรคระบบทางเดินหายใจ โรคต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการวินิจฉัยแยกโรค เป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้มีการควบคุม ป้องกันข้อมูลการระบาดในโรงเรียน ของทั่วโลกยังมีน้อยโรงเรียนต่างๆ ทั่วโลกส่วนใหญ่หยุดเรียน แล้วเพิ่งจะมาเริ่มเปิดเรียนในบางประเทศ ด้วยมาตรการต่างๆ กัน เราคงจะต้องใช้บทเรียนจากต่างประเทศ ที่มีการเปิดโรงเรียน หลายท่านบอกว่า จะไม่มีการระบาดในเด็กเล็ก ก็คงต้องรอข้อมูล เพราะในช่วงที่ผ่านมา มีการปิดโรงเรียนกัน เด็กนักเรียน ทั่วไปเมื่อติดโรคจะมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ การเฝ้าระวัง สุ่มตรวจ และการศึกษาอย่างละเอียด จะทำให้มีข้อมูล ในการใช้ในการป้องกันเวลาผ่อนปรนกิจการ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะเป็นบทเรียนการกำหนดระยะห่าง ตามวิถีชีวิตใหม่ การป้องกันเขาและป้องกันเราด้วยการใส่หน้ากากผ้า อนามัย ล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์ ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งวิกฤตนี้จะผ่านพ้นไป ก็ต่อเมื่อเรามียารักษาที่ดี หรือวัคซีนในการป้องกัน”