โรคโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายให้กับทุกธุรกิจแบบไม่เว้นหน้า หนึ่งในธุรกิจที่โดนผลกระทบอย่างจัง คือ ธุรกิจอาหาร เพราะทันทีที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ไม่อนุญาตให้เปิดร้านขายได้ตามปกติ ถึงแม้ลูกค้าจะยังสามารถซื้อแบบ Take Away ได้ ทว่าก็ทำให้ยอดขายของแต่ละร้านไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ตกฮวบฮาบ
เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้จัด Online Workshop เรื่อง Foodpreneurs โดยนำทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจอาหาร มาเปิดเผยเคล็ดลับวิธีพากิจการให้ไปรอดในยุคโควิด อันเป็นประโยชน์ให้กับผู้ทำธุรกิจอาหารทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ได้นำไอเดียต่างๆ ไปประยุกต์ใช้เพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้โดยวิทยากร 3 ท่านที่ตบเท้ามามอบเคล็ดลับ ได้แก่ ยู-วรัญญู เหล่าเรืองเลิศ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่ร่วมหุ้นกับพี่สาวเปิดร้าน “Little C” ขนมปังไส้ครีมเนยสดเจ้าดัง และ วิน-จุติคุณ แซ่เฮง ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ เจ้าของร้าน “หมูติดฟัน” ที่ขายทั้งหมูทอดและต้มเล้งในซอยข้างมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จนกลายเป็นขวัญใจเด็กบียู และ มิ้งค์-ปวริศรา เชิงรู้ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ ผู้เป็นเจ้าของร้าน “มิ้งค์หม้อไฟ” ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้น ม.6
ยู-วรัญญู เหล่าเรืองเลิศ ร้าน Little C “วิกฤตทำให้เห็นโอกาส ขยายกิจการไปสู่ตลาดใหม่ๆ”
“ห้างสรรพสินค้าปิด สินค้าเราเลยโดนกระทบค่อนข้างมาก เพราะปกติเราจะเปิดบูธตามห้าง จึงต้องปรับเปลี่ยนแผนด้วยการไปเปิดบูธในไฮเปอร์มาร์เก็ต อย่าง บิ๊กซี โลตัส แทน เพราะผู้คนยังสามารถไปจับจ่ายได้และลองกระจายบูธไปในพื้นที่ที่เราไม่เคยเข้าไปก่อน เพราะที่ผ่านมาเราเน้นขายในเมือง แต่ในกรุงเทพฯ มียอดผู้ติดเชื้อโควิดสูง คนเลยไม่กล้าออกนอกบ้าน แต่ต่างจังหวัดยอดผู้ติดเชื้อต่ำกว่า จึงกลายเป็นว่ายอดขายไปโตที่ต่างจังหวัดเรียกว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ คือ ต้องรู้พฤติกรรมผู้บริโภค เช่น บริการดีลิเวอรีจะนิยมในเมือง แต่ในต่างจังหวัดอาจยังใช้แอปกันไม่ค่อยถนัดเราจึงจะเน้นการดีลิเวอรีเหมือนสินค้าอื่นๆ ไม่ได้ ส่วนในกรุงเทพฯ แต่เดิมมีบริการส่งแค่บางสาขาเราก็ขยายไปในทุกสาขาและเพิ่มระยะทางมากขึ้น ผมคิดว่าเราอย่ากลัวความยาก เพราะความยากคือความท้าทาย”
วิน-จุติคุณ แซ่เฮง ร้านหมูทอดติดฟัน “ปรับตัวเร็วเท่าไร ยิ่งไปได้รอดเจอปัญหาคือเจอขุมทรัพย์”
“ร้านผมโชคดีที่ปรับตัวมาก่อนจะเกิดวิกฤตแล้ว อย่างเช่นดีลิเวอรีที่ให้บริการด้วยตัวเองมา 2-3 ปีแล้วโดยมีรถอยู่ 2-3 คัน ซึ่งเพียงพอสำหรับละแวกมหาวิทยาลัย และก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนก็เพิ่งเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เรายิ่งเห็นความสำคัญของดีลิเวอรีและด้วยความที่ร้านเราอยู่ข้างมหาวิทยาลัย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ม.กรุงเทพ เราเลยต้องเจอปิดเทอมทุกเทอม ลูกค้าจะน้อยลงอยู่แล้ว เราก็ต้องพึ่งลูกค้ากลุ่มอื่น โดยการใช้ LINEOfficial Account ยิงแอดเฟซบุ๊กไปยังกลุ่มเป้าหมายในละแวก 10-20 กิโลเมตร ดังนั้นพอมาเจอโควิด จึงปรับตัวได้ทันที ผมคิดว่าการทำบิสิเนสแพลนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะล้มบนกระดาษย่อมดีกว่าล้มในชีวิตจริง ต้องศึกษาลูกค้าให้ลึก จะช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณในการเริ่มใหม่ทุกครั้ง ที่สำคัญคือห้ามท้อ อย่าหนีปัญหา เพราะการเจอปัญหาคือการเจอขุมทรัพย์ เราต้องได้ประสบการณ์แน่นอน”
มิ้งค์-ปวริศรา เชิงรู้ ร้านมิ้งค์หม้อไฟ “ดีลิเวอรีและการตลาดดิจิทัล ทางรอดในยุคโควิด”
“เดิมทีร้านมิ้งค์ไม่เน้นดีลิเวอรี แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้ก็ต้องปรับเป็นเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยใช้บริการเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มต่างๆ ส่วนอาหารจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ต้มสุกกับให้กลับไปต้มเป็นสุกี้ทานที่บ้านสำหรับลูกค้าที่มีหม้อ มิ้งค์อยากให้ลูกค้ามีความรู้สึกเหมือนทานสุกี้อยู่ที่ร้านจริงๆ เลยช่วยปรุงวัตถุดิบให้สุกก่อน แล้วแยกวัตถุดิบไป หมูแยกหมู เส้นแยกเส้น แล้วให้ลูกค้ากลับไปทานต่อที่บ้าน ซึ่งจะพอทดแทนอารมณ์แบบสุกี้และรู้สึกเหมือนทานที่ร้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับการโปรโมตก็จะอาศัยการ knock door ถึงบ้าน เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการโปรโมตทางช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น เพราะแต่เดิมจะเน้นเฉพาะเฟซบุ๊ก ตอนหลังก็เพิ่มไอจีเข้ามา มิ้งค์พยายามรักษารสชาติ คุณภาพ และบริการให้ดีที่สุดเพื่อให้เกิดการโปรโมตแบบปากต่อปากโดยเราไม่ต้องเสียเงินสักบาท”
จะเห็นว่าแต่ละคนเรียนต่างคณะ แต่ทุกคนล้วนมีวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการ นั่นเพราะมหาวิทยาลัยกรุงเทพปลูกฝังอัตลักษณ์ที่ว่า “คิดแบบสร้างสรรค์ คิดแบบเจ้าของ” จึงทำให้พวกเขาไปได้รอดในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้