ท่ามกลางความผันผวนของกระแสโลกที่โดนเหตุการณ์ต่างๆ โจมตีจากทุกทิศทุกทาง ในช่วง 2-3 ปีมานี้ คำว่า disruption จึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เพราะแทบทุกวงการต่างโดน disrupt อย่างมากมาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงในหลายมิติของชีวิตคนเรา และยิ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยแล้ว ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นและชัดเจนขึ้น
Frost & Sullivan บริษัทชั้นนำระดับโลกที่ทำหน้าที่รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจและเทคโนโลยีต่างๆ ได้เผยผลการวิเคราะห์ว่า 10 ดิจิทัลเทคโนโลยีที่จะมาช่วยมนุษย์ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) ที่ถูกพัฒนาขึ้นให้มีปัญญาเหมือนคน นั่นเพราะในทางการแพทย์ AI จะมีบทบาทอย่างมากในการใช้ปัญญาที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมานี้ช่วยคัดกรองโรค หรือหยิบจับข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ที่มีอยู่มากมายมหาศาลมาใช้อย่างถูกต้อง แม่นยำอันจะนำไปสู่การรักษาหรือต่อยอดการวิจัยอื่นๆ
ในขณะที่เว็บไซต์ Raconteur กล่าวว่า โควิด-19 ได้สร้าง New Normal ให้กับชีวิตผู้คนในหลายด้าน ที่เห็นชัดที่สุด คือ การที่ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจ ดังนั้น AI จึงถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาด้านต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ Social Distancing เช่น การประเมินว่าใครน่าจะเป็นลูกค้าคนสำคัญ การจับแมตช์อุปสงค์และอุปทานอย่างถูกต้อง การวิเคราะห์ทิศทางกระแสเงินสดของบริษัท หรือแม้แต่มาช่วยคัดกรองเอกสารที่ส่งมาทางช่องทางออนไลน์ว่าถูกต้องหรือปลอมแปลงหรือไม่ เป็นต้น
หรืออย่างในฝรั่งเศส หนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ก็ได้มีการนำเทคโนโลยี AI มาติดตั้งในกล้อง CCTV เพื่อตรวจจับผู้ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ เช่น เมืองคานส์สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงปารีส ซึ่งการใช้ AI มาช่วยนี้จะช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลว่า มีผู้ให้ความร่วมมือในการการสวมใส่หน้ากากอนามัยมากน้อยเพียงใด และยังเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้ไม่สวมใส่หน้ากากเพื่อนำหน้ากากไปแจกให้ด้วย
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ยังเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ว่า ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับ disruption หนึ่งในเทคโนโลยี 6 ด้าน ที่ถือเป็นเทคโนโลยีหลักในการขับเคลื่อนโลกให้ก้าวข้าม disruption ไปได้ก็คือปัญญาประดิษฐ์ซึ่งจัดอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมดิจิทัล อันเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล
จึงเห็นได้ว่า เทคโนโลยี AI ที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีมานี้มีการพัฒนาขึ้นและถูกนำมาใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ AI ดังนั้นหลายๆ สถาบันจึงเริ่มเปิดสอนทางด้านนี้ แต่ในปัจจุบันมีเพียง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แห่งเดียวที่เปิดสอน สาขาวิชาวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูล โดยตรงในระดับปริญญาตรี
“อันที่จริงคนเราอยู่กับ AI มานานแล้ว อย่างเช่น การเปิด activate มือถือด้วยใบหน้าเจ้าของ เพราะมือถือฝังระบบ AI ไว้ให้ฉลาดพอที่จะรู้ว่าใบหน้าไหนคือเจ้าของนั่นเอง” ผศ.ดร.ปกรณ์ ยุบลโกศล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI กล่าว “ปัจจุบันถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นขาขึ้นของ AI คาดว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า จะมีการพัฒนาศักยภาพของ AI ให้มากขึ้นสำหรับอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ให้มนุษย์ ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เน้นสอนการสร้างและประยุกต์ใช้ AI ให้ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ โดยผสานความรู้ด้านวิทยาการข้อมูลหรือ Data Science เข้าไปด้วย เพื่อสร้างทักษะแก่ผู้เรียนให้ครบทุกมิติที่อุตสาหกรรมยุคดิจิทัลต้องการ”
อาจกล่าวได้ว่า AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ คือ เทคโนโลยีขับเคลื่อนอนาคต การเรียนรู้ด้านนี้จึงจะกลายเป็นศาสตร์สำคัญที่คนยุคใหม่---ในฐานะผู้สร้างอนาคตให้ประเทศชาติหรือแม้แต่โลกใบนี้---ไม่ควรมองข้าม
(ขอบคุณภาพประกอบจาก Pixabay)