ศบค.ฝากร้านสะดวกซื้อลงทะเบียนไทยชนะมากขึ้น ยันเช็กอินร้านย่อยๆ ในห้าง มีประโยชน์ ช่วยติดตามได้ หากมีผู้ป่วยเกิดขึ้นจะรู้ว่าไปตรงไหนของห้าง หากไม่เช็กอินย่อย ต้องเหมาคนเข้าห้างทั้งหมด แจงเก็บข้อมูล 60 วัน มาจากประสบการณ์คลัสเตอร์สนามมวยที่เจอ 4 รุ่น รุ่นละ 14 วัน จึงต้องใช้เวลา 2 เดือน
วันนี้ (20 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า การดำเนินงานของไทยชนะ มีร้านค้าลงทะเบียน 67,904 ร้าน มีผู้ใช้งานลงทะเบียน 5,077,978 คน เช็กอิน 8,584,803 ครั้ง เช็กเอาต์ 6,359,921 ครั้ง ประเมินร้าน 3,984,691 ครั้ง ความร่วมมือตรงนี้ทำให้เมื่อเกิดโรคชุดข้อมูลจะมีความสำคัญและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบดำเนินงานการสอบสวนโรค สำหรับการลงทะเบียนร้านค้า พบว่า ร้านอาหาร เครื่องดื่มลงมากท่่สุด 17,362 ร้าน ห้างสรรพสินค้า 13,538 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าปลีกส่ง 11,156 ร้าน ซึ่งร้านสะดวกซื้อมีจำนวนมาก จึงขอให้ร้านสะดวกซื้อช่วยกันลงมากกว่านี้ จะได้มีระบบป้องกันประชาชน ประตูเข้าออกมีทางเดียวก็จะรู้ความหนาแน่นได้
การเช็กอินเช็กเอาต์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. พบว่า มีการเช็กอิน 3 ล้านกว่าครั้ง เช็กเอาต์ 2.29 ล้านครั้ง มีส่วนต่างประมาณ 7.14 แสนครั้ง ช่องว่างตรงนี้ต้องแคบที่สุดให้เป็นตัวเลขเดียวกันยิ่งดี ดังนั้น เมื่อเข้าแล้วพอออกให้สแกนด้วย ส่วนการประเมินร้านค้าส่วนใหญ่อยู่ใน 5 คะแนนเต็ม
ขณะที่การตรวจสอบกิจการวันที่ 19 พ.ค. ตรวจ 17,588 แห่ง ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 5 แห่ง ปฏิบัติไม่ครบ 1,863 แห่ง สำหรับการไม่ปฏิบัติตามมาตรการจะมีมาตรการตักเตือนก่อน ตามด้วยแนะนำ ตรวจซ้ำ หากไม่ผ่านก็จะให้ปิดเพื่อปรับปรุง ส่วนปฏิบัติไม่ครบ พบว่า กองถ่าย 20% สถานที่ออกกำลังกาย 16.5% ร้านตัดผม 13.9% ห้องสมุด 12.9% ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเว้นระยะห่าง 45.6% จำนวนผู้ใช้บริการหนาแน่น 17.4% สบู่เจลแอลกอฮอล์ 15.2%
เมื่อถามว่าเหตุใดต้องสแกนคิวอาร์โคดหลายรอบ ในห้างและในร้านอีก นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าจุได้เป็นหลักหมื่นหรือหลายหมื่น ถ้ามีคน 1 คนติดเชื้อในห้าง ให้ประวัติแค่ไปห้าง ก็ต้องเอาคนหมื่นคนมาตรวจ แต่ถ้าไปนั่งทานอาหาร หรือไปซื้อของร้านย่อย ถ้าเราสืบสวนกลับไป 1 คนที่ติดเชื้อเดินเข้าไปตรงไหน เช่น ไปร้านค้าที่ซื้อของ กับทานอาหาร คนที่เช็กอินตอนแรก 1 หมื่นคนไม่ต้องตรวจทั้งหมด เหลือแค่คนสัมผัสใกล้ชิด อาจเป็นหลักสิบหลักร้อยที่เอามาตรวจ นี่คือ ความสำคัญของการเช็กอินเช็กเอาต์ย่อยๆ นี่คือ ระบบที่ออกแบบให้ทุกคนได้ประโยชน์ แทนที่จะกักคนจำนวนมากก็กักคนน้อย
ถามว่าหากไม่ลงทะเบียนไทยชนะผิดหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ก็ให้คำแนะนำและตักเตือน ไม่อยากให้ผิด ขอความร่วมมือ เพราะเรื่องเหล่านี้ดีต่อท่านเอง หากสงสัยคนเข้ามาจะติดเชื้อหรือไม่ ท่านต้องระวังตัวเองการรับเชื้อจากคนที่เดินเข้ามา ใครมากหน้าหลายตา ท่านจะสบายใจว่าเขาสแกนตั้งแต่เข้ามา เข้าร้านท่าน นี่คือประโยชน์ต้อตัวท่านเอง การลงทะเบียนเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง ผู้รับบริการ และสังคมโดยรวม จึงอยากให้เข้าร่วม
ถามถึงเหตุผลในการเก็บข้อมูลเช็กอินเช็กเอาต์ไทยชนะ 60 วัน เพราะการสืบสวนโรคแค่ 14 วัน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า เราใช้ตัวอย่างของกลุ่มสนามมวย เพียงแค่ไม่กี่คน มีการติดจากรุ่นที่ 1 ไปถึง 2 3 และ 4 รุ่นหนึ่งใช้เวลา 14 วัน จึงต้องวางไว้ถึง 2 เดือน เป็นเรื่องที่มีหลักการและเหตุผลทั้งสิ้น เราใช้ประสบการณ์ที่เคยเจอมาก่อน จึงเป็นที่มา 60 วัน
มีการเทียบว่า คนป่วยไม่มีอาการ 80% ผู้ป่วยเรามี 3 พันกว่าคน จะมีคนติดเชื้อไม่มีอาการเป็น 1.2 หมื่นคนหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า คงไม่ได้เทียบง่ายๆ แบบนั้น ต้องใช้ปัจจัยในการคำนวณอีกมาก ตัวเลขเท่าไรไม่รู้ แม้ตัวเลขติดเชื้อ 3 พันกว่า แต่คนแรกๆ ก็หายไปแล้ว คนติดเชื้อไม่มีอาการต่างๆ ในกลุ่มก้อนนั้นก็น่าจะหายไปแล้วด้วย เพราะอาการฟักตัวโรคอยู่ที่ 14 วัน ไม่ได้หมายถึงต้องเยอะขนาดนั้น แต่ตัวเลขเท่าไร นักระบาดวิทยากับภาคคลินิกจะคำนวณ โดยจะสอบถามเพิ่มเติมให้
ผู้ประกอบการหลายกลุ่มเริ่มออกมาเคลื่อนไหว เพราะยังไม่ได้รับผ่อนปรน นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เข้าใจว่าต้องหาเลี้ยงชีพ ศบค.ก็พูดคุยกันในรายละเอียด กว่าจะแบ่งระยะต่างๆ มีพื้นฐานข้อมูลในการตัดสินใจ หากไม่อยู่ในระยะ 2 ก็ขอให้ปฏิบัติตัวอย่างดี จะได้ปลอดภัยและไปต่อในระยะที่ 3 ถ้าเป็นผู้ประกอบการในระยะ 3 ถ้าผู้ป่วยใหม่เรายังเป็นหลักเดียวไม่เรื่อยๆ ก็มีโอกาสรับการผ่อนคลาย จึงฝากให้ช่วยคิดเอาหลักการ 5 ข้อไปปรับใช้ในร้านอย่างไร ไม่ต้องรอให้ใครมาตรวจ สำรวจกิจการอื่นๆ แล้วมาปรับกับกิจการท่านเอง อย่างผับบาร์จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ ให้คนมาใช้บริการมั่นใจ ไปแล้วไม่ติดเชื้อ กิจการเปิดได้ รอท่านช่วยกันคิดและแก้ไข พื้นที่ของท่านรู้ดีมากที่สุด สามารถจัดกระบวนการทางเข้าออก ก็เตรียมพร้อมได้ตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ต้องรอตอนนั้น