xs
xsm
sm
md
lg

สอวช.ชี้ หลังโควิด ครู-นักเรียน รอบรู้ด้านสุขภาพ มั่นใจเกิดอาชีพใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.สอวช. ชี้ หลังโควิด 19 ครู-นักเรียน ต้องรอบรู้ทางสุขภาพ มั่นใจเกิดอาชีพใหม่อื้อ โดยเฉพาะท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แนะอัปสกิลเพิ่มเทคนิค รองรับชีวิตปกติใหม่แบบไม่ว่างงาน

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. กล่าวว่า ระบบการศึกษาหลังวิกฤตโควิด-19 จะต้องปรับระบบจัดการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการทำ Health led education หรือการศึกษาแบบใช้สุขภาพนำ ซึ่ง ครูนักเรียน ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษา ต้องมีความรอบรู้ทางสุขภาพคือรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อนำไปสู่การจัดการศึกษาในรูปแบบ NewNormal อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการผลิตเนื้อหาการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละช่วงวัยและเป็นเนื้อหาที่เหมาะกับช่องทางการเรียนการสอนหลายคนบอกว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นทางเลือกหนึ่งแต่ในความเป็นจริงแล้วการเรียนในลักษณะนี้ไม่ได้เหมาะสมกับทุกช่วงวัยและทุกหลักสูตรหากเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ออนไลน์จะทำได้ง่ายกว่าแต่ก็ต้องผสมผสานการเรียนการสอนทั้งรูปแบบออนไลน์ออนแอร์ และแบบพบครูผู้สอน ขณะที่เด็กเล็กการเรียนออนไลน์จะต้องมีเนื้อหาที่เหมาะสมทั้งรูปแบบและการนำเสนอ

“การศึกษาในรูปแบบ New Normal ครู อาจารย์ ต้องใช้เทคโนโลยีเป็นต้องครีเอทคอนเทนต์ที่ใช้สำหรับออนไลน์ได้ ต้อง Upskill- Reskillเพิ่มเทคนิคการสอน การอธิบาย ขณะที่ตัวนักศึกษาเองก็ต้องหันมาเรียนรู้ปรับตัวกับการเรียนผ่านช่องทางใหม่ๆที่จริงแล้วเรื่องการปรับระบบการเรียนการสอน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วคือเรื่อง Life Long Learning ซึ่งเป็นนโยบายที่จะตอบโจทย์การศึกษาในรูปแบบNew Normal ได้ ผ่านการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา ต้องสามารถสร้างหลักสูตรเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพและให้ทุกคนสามารถที่จะเข้าถึง โดยไม่มีอุปสรรคในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนลงและต้องเป็นหลักสูตรที่ทุกคนสามารถเรียนเวลาไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ และที่ไหนก็ได้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่นักเรียนในโรงเรียน หรือในมหาวิทยาลัยเท่านั้นคนทั่วไปที่อยากได้ความรู้ก็เข้ามาเรียนตรงนี้ได้” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่าในส่วนของอาจารย์ที่อาจจะยังไม่พร้อมปรับตัวเข้าสู่ New Normal จะทำอย่างไรนั้น ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ส่วนหนึ่งก็ต้องบอกว่าโควิด-19 เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตอนนี้ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้มีโอกาสคุยด้วย มีการแจก License การเรียนการสอนออนไลน์กับอาจารย์ ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงมีครูอาจารย์ 50% ทำ ก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้อีก 50% ทำไปด้วย โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าห่วงแต่สิ่งที่น่าห่วง คือ การสร้างขีดความสามารถให้กับครูอาจารย์ หากเป็นการสอนในระดับโรงเรียนภาคการอุดมศึกษาควรจะมีบทบาทในการเข้าไปช่วยด้วย

ดร.กิติพงค์ กล่าวด้วยว่า กระทรวง อว.ก็กำลังเริ่มขยับในหลักสูตรสำคัญหลังโควิดที่จะรองรับคนตกงานตลอดจนนักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่ ผ่านโครงการ Future Skill New Career ซึ่งหลังจากประเทศเผชิญกับโควิดการหางานอาจจะหาได้แต่หายากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งโครงการนี้จะมีคอร์สที่จะช่วย Upskill หรือ Reskill เพื่อที่จะเสริมทักษะตลอดจนปรับทิศทางการทำงานให้กับนักศึกษาที่กำลังจะจบใหม่ คนที่ตกงานอาจจะด้วยสาเหตุต้องการเปลี่ยนงานใหม่หรือต้องการเข้าสู่ระบบงานใหม่ โดยทักษะที่เริ่มมีความสำคัญ คือ ทักษะที่มีองค์ความรู้ด้านการดูแลการจัดการโรค การจัดการด้านชีวอนามัยเรื่องของสุขภาพ เช่น เจ้าหน้าที่ด้านชีวอนามัยในโรงงาน เมื่อก่อนอาจจะดูแลแค่เรื่องความปลอดภัยในการใช้เครื่องจักรการใช้สถานที่ให้ปลอดภัย แต่หลังโควิดเจ้าหน้าที่ด้านชีวอนามัยต้องมีทักษะในเรื่องการป้องกันควบคุมโรค ดังนั้น จึงต้องมีการพัฒนาทักษะเขาขึ้นมารวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคตก็ต้องการคนที่มีความรู้พวกนี้หากนักท่องเที่ยวทะลักเข้ามาอีกระลอกเราต้องมีระบบกลั่นกรอง ต้องมีคนที่รู้ว่าจะจัดการเรื่องพวกนี้อย่างไรเราก็จัดหลักสูตรที่ปรับแต่งเพื่อสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมา

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สอวช. ยังเชื่อหลังวิกฤตโควิดผ่านพ้น จะเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมามาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในอนาคตจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางสุขภาพก่อนดังนั้นในช่วงเปลี่ยนผ่านเราจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำเรื่องของระบบการคัดกรองต่างๆ ลงระบบโลจิสติกส์รวมไปถึงเรื่องของบุคลากรในระดับสูงที่จะมาทำการออกแบบระบบบูรณาการต่างๆ เหล่านี้เป็นตำแหน่งงานใหม่ๆที่ต้องการคนเข้าไปทำ เพราะเราให้ความสำคัญกับหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องสุขภาพมากขึ้น

“จริงๆ เรามีการตื่นตัวเรื่องโรคระบาดมาก่อนหน้านี้ทั้ง ซาร์ส ไข้หวัดนกแต่เราตื่นตัวไม่เกินปีครึ่งก็จะเริ่มซาลงไป แต่ครั้งนี้มันมีความรุนแรงกว่าและก็มีการเตรียมการ เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมารองรับด้วย อาชีพพวก Home Delivery ก็เป็นอาชีพเกิดใหม่ที่เห็นได้ชัดเจนบนท้องถนนซึ่งพวกนี้ต้องมีความรู้ที่ไม่ใช่เพียงแค่การส่งของ แต่ต้องรู้อุณหภูมิอาหารการสัมผัสอาหาร ต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี” ดร.กิติพงค์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น