xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” สั่งศึกษาเทียบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-กม.ปกติคุมแพร่ “โควิด” ใช้ตัดสินใจต่อ-ไม่ต่อประกาศฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผอ.ศบค.ตั้ง หน.สำนักงานประสานงานกลาง ประเมินสถานการณ์โควิด เพื่อจัดทำแนวทางผ่อนคลายกิจการ สั่งเร่งพีอาร์แอปพลิเคชัน ไทยชนะ มอบ คกก.ด้านกฎหมายศึกษาเทียบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและกม.ปกติควบคุมโรค หวังพิจารณายกเลิกหรือต่อประกาศภาวะฉุกเฉิน พร้อมให้แรงงานขามชาติกลับบ้านได้

วันนี้ (15 พ.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ว่า เรื่องมาตรการผ่อนปรน นายกฯ มอบให้มีหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางเป็นประธาน ซึ่งให้หลักการว่าจะต้องมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติตามมาตรการข้อกำหนดต่างๆ เพื่อจัดทำแนวทางการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมเพิ่มเติมตามความเหมาะสม โดยคำนึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนการนำแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” เพื่อสนับสนุนการติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบการกิจการ/กิจกรรมให้เป็นไปตามกำหนด ต้องสร้างการรับรู้ประชาชน ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ เพราะต้องใช้เครื่องมือตรงนี้มาช่วยป้องกันปกป้องชีวิตความปลอดภัยพลเมือง เหมือนหลายประเทศที่ใช้เทคโนโลยีในการติดตาม เพื่อให้ประชาชนรับทราบ สแกนคิวอาร์โคดทุกครั้งที่เข้าออกสถานที่ต่างๆ แต่ก็ให้ความมั่นใจการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลให้ประชาชนด้วย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับด้านกฎหมาย ได้ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจการด้านกฎหมายศึกษาดูเรื่องความจำเป็นเปรียบเทียบระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 กับกฎหมายปกติเพื่อควบคุมการระบาด เพื่อเป็นข้อพิจารณาให้คณะกรรมการ ศบค.ในการพิจารณาประกาศขยายเวลาหรือยกเลิกการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนเรื่องการกำหนดเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค. อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประชาสัมพันธ์เตรียมความพร้อม สถานที่ เจ้าหน้าที่ การปฏิบัติต่างๆ ในโรงเรียน ขณะที่การควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ ก็รับทราบข้อมูลคนไทยที่อยากกลับมาจะเพิ่มจำนวนอย่างไร ก็ให้คำนึงถึงความสมดุลจำนวนผู้ลงทะเบียน ความพร้อมทรัพยากรทางการแพทย์ และขีดความสามารถในการดูแลในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศทุกรายอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ และดำเนินการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

“ส่วนการพิจารณาให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศเพื่อนบ้าน หากอยากกลับบ้านก็ให้ดูแลอย่างดี แต่ต้องดูแลเรื่องการไปๆ มาๆ จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ก็ต้องดูแลอย่างดี และสำรวจพื้นที่การพักอาศัยแรงงานต่างด้าวด้วย เพราะการแออัดเป็นสาเหตุหนึ่งการแพร่กระจายโรคในประเทศเพื่อนบ้าน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น