กสศ.จับมือ ตชด. เปิดโครงการพัฒนาครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน นำร่อง 50 แห่ง ใน 15 จังหวัด ร่วมพัฒนาสมรรถนะครู 485 คน เด็ก นร. 5,335 คน และคุณภาพการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร จากความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษาใน 4 ภูมิภาค หวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
วันนี้ (14 พ.ค.) ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พล.ต.ท.วิชิต ปักษา ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ผบช.ตชด.) ร่วมประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการดำเนินงานโครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ผ่านระบบ video conference โดยมีผู้แทนกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 1-4 ผู้แทนกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11-14, 21-24, 31-34, 41-44 และครูใหญ่โรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนนำร่อง 50 โรงเรียนเข้าร่วม
นายสุภกร กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นที่ทาง บช.ตชด. และ กสศ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือใน “โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไขและพัฒนาคุณภาพครู” กับโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 220 แห่ง เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2562 นั้น จึงนำมาสู่ “โครงการพัฒนาครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร” ซึ่ง กสศ. มุ่งหวังว่า จะเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของครู สู่การพัฒนาศักยภาพของเด็กที่เหมาะสมตามช่วงวัย ให้สอดรับภารกิจของ กสศ. โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน 50 แห่ง จากโรงเรียนในสังกัด ตชด. ทั้งหมด 220 แห่ง จะกระจายอยู่ในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เลย อุดรธานี บึงกาฬ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก สงขลา ตรัง สตูล และ พัทลุง จะมีครูที่ได้รับการพัฒนาทั้งหมด 485 คน เด็กนักเรียนได้รับประโยชน์ 5,335 คน หลักสูตรที่พัฒนาคาดว่าจะเรียบร้อยและใช้สำหรับการจัดการเรียนการสอนให้ครู ตชด.ได้ในปีการศึกษา 2564
“โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้และจัดหลักสูตรให้กับเหมาะสมกับครู ตชด. ที่สำคัญ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษาสำหรับครูในท้องถิ่นทุรกันดาร เพราะมีความยืดหยุ่นปรับได้ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เน้นฝึกปฏิบัติจริง มีกลไก สอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหา เพื่อส่งเสริมให้ครู ตชด. มีโอกาสได้ศึกษาต่อเพื่อเพิ่มคุณวุฒิทางวิชาชีพครูตามมาตรฐาน
อันจะเป็นอีกกลไกช่วยลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและทำให้เด็กมีคุณภาพการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นภารกิจเป้าหมายของ กสศ.” นายสุภกร กล่าว
ด้าน พล.ต.ท.วิชิต กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง บช.ตชด.และ กสศ. ในครั้งนี้จะช่วยลดอุปสรรคของการพัฒนาครูในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนอย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ด้านสำคัญ คือ 1. การพัฒนาสมรรถนะครู ตชด. โดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และ 2. การพัฒนาหลักสูตรผลิตครูของมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหาของครู ตชด. เนื่องจากที่ผ่านมาครู ตชด.ไม่สามารถศึกษาต่อให้ได้รับคุณวุฒิทางวิชาชีพครู ด้วย 2 สาเหตุ คือ 1. ภาระงานที่ล้นมือ แม้ว่าโครงการจะจัดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่โรงเรียน ตชด. ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เสียเวลาในการเดินทาง ทำให้ใน 1 สัปดาห์ ครูต้องฝากห้องเรียนไว้กับเพื่อนครู สัปดาห์ละ 2 วัน ครูในโรงเรียนต้องมีภาระเพิ่มขึ้น ส่วนครูที่ศึกษาต่อก็มีภาระงานทั้งความเป็นครู ตำรวจ และนักศึกษาในที่สุด จึงต้องตัดสินใจยุติการเรียนกลางคัน เพราะความเหนื่อยล้าจากการมีภาระงานรอบด้าน 2. ภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเดินทางและค่าที่พักในการเดินทางไปเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งครูต้องใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 3,000-3,500 บาทต่อครั้ง นอกจากนี้ ยังมีค่าตำราเรียน ค่าจัดทำเอกสารรายงานต่างๆ ยังไม่นับรวมภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ จึงทำให้ครูต้องยุติการเรียนกลางคัน
“ปัจจุบันโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศมีทั้งหมด 220 แห่ง มีครูทั้งหมด 2,500 คน ในจำนวนนี้มีครู ตชด.ที่มีวุฒิบัตรครูเพียง 20-30% เท่านั้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นให้ครู ตชด.ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะในทุกๆ ด้าน สิ่งที่เราคาดหวังในครั้งนี้ คือ จะเป็นขวัญและกำลังใจให้กับครู ตชด.เมื่อครูมีศักยภาพแล้วผลที่ได้จะถูกส่งต่อไปยังนักเรียนส่งผลให้นักเรียนมีความรู้ และมีศักยภาพ ที่สำคัญ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในมิติครูและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างแท้จริง” ผบช.ตชด. กล่าว