xs
xsm
sm
md
lg

เป็นทุกอย่างให้นักเรียน! “ครูน้อย” อุทิศตน 24 ชม. ดูแลเด็กยากไร้โรงเรียนเรือนแพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ครูหนุ่มจากยโสธรมุ่งหน้าสู่เรือนแพในถิ่นทุรกันดารแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันแสนสงบ ไม่มีน้ำประปา ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ไร้สัญญาณโทรศัพท์ อุทิศตนเพื่อให้เด็กๆได้มีความรู้พื้นฐาน สานฝันสู่อนาคต ทว่า ปัจจุบันนี้เรือนแพเก่าทรุดโทรมจากการใช้งาน แต่ขาดปัจจัยในการบูรณะซ่อมแซม

สอนวิชาการ วิชาชีวิต


ครูน้อย - ปริญญา ขันอาสา ข้าราชการครูประจำโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร(ห้องเรียนเรือนแพ) อ.ลี้ จ.ลำพูน ตั้งอยู่กลางน้ำบนพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพล ดูแลเด็กชายขอบ 7 ชีวิต อยู่กินนอนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ สอนทั้งวิชาการ และวิชาชีวิต สภาพความเป็นอยู่ยากลำบาก ปลูกผัก เลี้ยงปลา เป็นอาหาร เลี้ยงดูเหมือนพ่อแม่แท้ๆ สร้างโอกาสให้เด็กได้เติบโตเป็นคนดีมีความรู้ติดตัว ไม่ต้องการลาภยศ ตำแหน่ง หวังส่งเด็กถึงฝั่ง มีความสุขในแต่วันด้วยการทำหน้าที่ครูให้ดีที่สุด

ครูน้อยบอกว่า อยู่ที่นี่ต้องทำทุกอย่างให้ได้ เป็นทั้งครู ทั้งพ่อแม่ เป็นทั้งช่าง ทั้งพ่อครัว เด็กไม่สบายต้องพานั่งเรือไปหาหมอบนฝั่ง โดยใช้เวลาเดินทางถึง 40 นาที


ครูคนหนึ่งที่อุทิศตน รับใช้หน้าที่ของการเป็นครู หรือเรือจ้าง ซึ่งถิ่นที่ครูมาพักพำนักหรือปฏิบัติหน้าที่ อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ แวดล้อมด้วยธรรมชาติอันสงบ การสัญจรลำบาก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ต้องข้ามน้ำ ข้ามภูเขา หลายร้อยกิโลฯ เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กในพื้นที่ ได้มีความรู้ขั้นพื้นฐาน พร้อมผลักดันให้มีอนาคตที่สดใส ด้วยปณิธานของผู้เป็นครูอย่างแท้จริง

"สำหรับตัวผม ตอนแรกก็อาจจะหนักใจนิดหนึ่ง เพราะไม่เคยมาอยู่ พอมาอยู่ความหนักใจก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ เนื่องจากความเคยชิน คือมาอยู่นี่เราไม่ได้เป็นครูอย่างเดียว เราอาจได้เป็นนักเรียนด้วย เพราะเด็กต้องสอนเราในเรื่องการใช้ชีวิตอยู่นี่"

นี่คือความคิดของครูน้อย ครูหนุ่มชาวยโสธร ที่ตัดสินใจจากครอบครัวนานกว่า 4 ปีแล้ว มาเพื่อทำหน้าที่ครูประจำโรงเรียนเรือนแพนี้ ซึ่งหากเทียบกับครูทั่วไป สำหรับข้าราชการครู ที่ต้องไปทำหน้าที่ต่างจังหวัด หรือห่างไกลบ้านเกิด อาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับการเป็นครูของครูน้อยแล้ว ที่นี่แตกต่างจากโรงเรียนอื่นๆทั่วไป


โรงเรียนเรือนแพบ้านก้อจัดสรร สาขาเรือนแพ เป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร อ.ลี้ จ.ลำพูน โรงเรียนแห่งนี้เปิดให้ความรู้ให้กับเด็กนักเรียนมานานถึง 27 ปีแล้ว โดยตั้งอยู่กลางน้ำบนพื้นที่เหนือเขื่อนภูมิพล โอบล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตรอยต่อสามจังหวัด คือ ลำพูน เชียงใหม่ และ จ.ตาก
โดยมีผู้คนอาศัยอยู่บนเรือนแพตามสองฟากข้าง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง เลี้ยงชีพโดยใช้เรือเป็นพาหนะ สัญจรเดินทางเป็นหลัก

"ครูทำเพื่อพวกเราเพราะว่าอยู่กลางน้ำมันลำบาก ที่ทำกินบางวันก็ได้ บางวันก็ไม่ได้ บางวันก็ไม่มีสตางค์สักบาท ถ้าจะให้ไปอยู่บ้าน ค่าใช้จ่ายมันสูง แต่ที่นี่ยังมีค่าเสื้อผ้า ค่าดินสอ ไม่ได้ซื้อ เพราะได้ครูช่วยเหลือตลอด" มาลัยพร สุ่มพร ผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนเรือนแพ กล่าวด้วยความเคารพครูน้อย

"รู้สึกดีใจ และขอบคุณที่ครูช่วยเหลือที่อยู่เรือนแพ เพราะถ้าไม่มีครูก็ลำบาก ต้องเอาไปฝากญาติไว้บนบก"
มากกว่าความเป็นครู




“สาเหตุที่ลงมาอยู่ที่โรงเรียนเรือนแพ พอดีครูคนเก่าเขาชวนให้มาอยู่ด้วย ก็เลยลงมากับครู มาอยู่แรกๆก็ ความรู้สึกตื่นเต้น เพราะว่าจะได้มาอยู่โรงเรียนที่ไม่เคย อยู่บนบก โรงเรียนแห่งนี้ไม่เหมือนโรงเรียนที่อื่น เพราะว่าเป็นโรงเรียนกินนอน เด็กนักเรียนพักที่นี่ส่วนหนึ่ง แล้วตัวเราที่ต้องจัดการเองทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ ของนักเรียน ทุกอย่างที่มาอยู่ที่นี่ มันทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่มากกว่าความเป็นครู คือ "ความรับผิดชอบ" เราต้องรับผิดชอบหลายๆอย่าง

อย่างที่อื่นบางทีเขาอาจจะสอนเสร็จก็หมดเวลา แต่เรายังต้องอยู่กับเด็กทุกอย่าง เด็กเจ็บป่วยก็ต้องดูแล เป็นหมอ ให้ยาเด็ก ค่ำมาหรือตอนเช้า เราต้องเป็นพ่อครัวทำกับข้าว ช่วงเวลาสอนเราก็เป็นครู มีอะไรชำรุดเสียหายเราก็ซ่อม เป็นภารโรง พูดง่ายๆคือ เราจะเป็นทุกอย่างสำหรับการเป็นครูอยู่ที่นี่


สมัยก่อนที่เริ่มตั้งโรงเรียนใหม่ๆ จะมีเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาจะอยู่นี่เยอะมาก ประมาณ 30 กว่าคน แล้วทีนี้ทางรัฐเขามองเห็นว่า เด็กไม่ได้รับการศึกษา ก็เลยเอาโรงเรียนมาตั้งที่นี่ เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษา เพราะนโยบายคือ การศึกษาเข้าถึงทุกพื้นที่

ก่อตั้งอาคารครั้งแรก มีอาคารอยู่หลังเดียวจากการเช่าของเอกชน เดือนละ 2,000 บาท จากนั้นก็มีผู้มาบริจาคอาคารเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันนี้จึงมีนักเรียนไม่มาก มีทั้งหมด 7 คน ระดับชั้นอนุบาล 2 หนึ่งคน อนุบาล 3 หนึ่งคน ป.2 สองคน และ ป.6 สามคน

การเป็นครูประจำที่นี่ นอกจากการเรียนการสอนวิชาการทั่วไปแล้ว ยังมีหน้าที่ไม่ได้แตกต่างจากพ่อแม่แท้ๆของเด็ก เพราะต้องใช้ชีวิตกินนอนตลอด 24 ชั่วโมง

ครูน้อยไม่เพียงสอนแต่วิชาการ ยังสอนวิชาชีวิต เช่นการทำอาหารเพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง

"ครูสอนปลูกผัก ทำกับข้าว ผมเคยทำผัดพริกแกงถั่ว" ทรงพล หล้าบัววงศ์ นักเรียนโรงเรียนบ้านก้อจัดสรร (สาขาเรือนแพ)

"ถ้าไม่มีโรงเรียน น่าจะไม่มีอนาคตครับ เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ โตขึ้นอยากเป็นวิศวกรหุ่นยนต์ เคยมีคนเอาคลิปมาเปิดให้ดู สร้างหุ่นยนต์ สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ อยากสร้างหุ่นยนต์ที่รดน้ำผัก " สิงกา สังข์คำ นักเรียนชั้น ป.6

ครูน้อยเล่าว่า สำหรับผู้ปกครองของเด็ก ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวแพ ส่วนมากประกอบอาชีพประมง หาปลาในการเลี้ยงชีพ


“ดังนั้นรายได้ของผู้ปกครองก็จะไม่เยอะ ก็จะไม่มาก การเรียนต่อก็จะเป็นปัญหา และอุปสรรคมากในการส่งลูกเรียนต่อ ดังนั้นโรงเรียนเราจึงพยายามหาทุนให้เด็ก หาผู้อุปถัมภ์ เพื่อให้เด็กได้เรียนต่อ ได้ไปหาประสบการณ์ข้างนอก

เราก็ภูมิใจที่เราส่งเด็กได้ ภูมิใจที่ผู้ปกครองไม่ต้องเสียเงินมาก เพราะเราหาทุนให้เขาได้

สำหรับการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกนั้น ค่อนข้างจะลำบาก เพราะที่นี่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ปกติการติดต่อสื่อสารจะใช้ ว.ติดต่อเป็นหลัก แต่ตอนนี้ชำรุดไปแล้ว โทรศัพท์พวกที่ใช้อินเตอร์เน็ตก็จะไม่มีเลย ถ้ามีเรื่องด่วนมากๆก็ต้องขับเรือออกไปข้างนอก สมมติว่ามีบางเหตุการณ์ที่เด็กป่วยหนัก กลางคืนเราก็ต้องออกเรือ เพื่อพาเด็กไปส่งที่โรงพยาบาลให้ทัน"


ทว่า ก่อนหน้านี้ที่โรงเรียนจะใช้เเสงสว่างจากตะเกียง เทียน ไฟฉาย แต่ปัจจุบันนี้จะโซลาร์เซลล์จากของรัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ที่โรงเรียนจะมีการปลูกผักลอยน้ำ มีพืชผักสวนครัวที่ใช้ประกอบอาหารในโรงเรียนแพแห่งนี้ เช่น กะเพรา โหระพา และมีการเลี้ยงปลา เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาทับทิม ปลาแรด เลี้ยงเพื่อบริโภค

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการปลูกผัก เลี้ยงปลาแล้ว แต่ก็ยังไม่พอในการบริโภค จำเป็นต้องซื้อพวกเนื้อหมู ไก่ ด้วย

เรือนแพเก่า รอวันจม


สภาพของเรือนแพที่เก่าและทรุดโทรม แต่ขาดทุน ปัจจัย จึงถูกทิ้งร้างไว้ รอวันซ่อมแซม

"เนื่องจากทุ่นไม้ไผ่เกิดการชำรุด เสื่อมสภาพตามกาลเวลา ทำให้ตัวแพจมลงเรื่อยๆ เวลาเด็กไปยืน หรือตัวผมไปยืนแพก็จะจมน้ำ น้ำจะเข้า ทำให้ตะกอนขึ้นมาบนแพ เดิมทีใช้ประกอบอาหาร เป็นที่ทำกิจกรรม เพราะตรงนี้กว้างที่สุด

ตอนนี้กำลังหาทุนทรัพย์มาซื้อทุ่นไม้ไผ่เพื่อปรับปรุง เพราะเป็นแพของเอกชน ซึ่งเราเช่า เขาในราคาที่ไม่มาก เราต้องช่วยเหลือ เหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า เราก็หางบประมาณมาช่วยทำ

ด้วยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนแห่งนี้ แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ป่า เขา แม่น้ำ การที่เด็กเหล่านี้จะเติบโต ใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมต่อไปได้ การเรียนรู้ทักษะชีวิตที่ไม่มีในตำราเรียน ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย


“มีอยู่เหตุการณ์หนึ่ง พาเด็กนักกีฬาที่เป็นทีมชาติไปสมัครเรียน แล้วพาไปเข้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คือเด็กไม่เคยออกไปข้างนอก พอซื้อของเสร็จ แล้วผมกำลังจ่ายเงิน เด็กบอกว่าอยากกินขนมปัง ให้เด็กวิ่งไปเอา แล้วผมกำลังจะจ่ายตังค์แล้วแถวมันยาว แล้วเด็กจะวิ่งอ้อมไปทางเข้า เพื่อจะไปลัดหาผมข้างหน้า ทีนี้เจอยามก็หิ้วมา เหมือนเด็กจะมาขโมยของ แต่เด็กเขาคิดแค่ว่าจะไปหาครูข้างหน้า ด้วยความที่เด็กไม่รู้ ก็เป็นประสบการณ์ชีวิตที่เด็กเขาเจอเอง
ตอนนี้ก็มีครูอาสา เขาก็จะมาเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ใช้ชีวิตอยู่บนฝั่ง สังคมข้างนอกเป็นยังไง อีกอย่างที่สำคัญ เราพยายามพาเด็กออกไปข้างนอกไปเจอประสบการณ์จริง”


ไม่เพียงแต่โรงเรียนเรือนแพกลางน้ำที่เก่าทรุดโทรมใกล้จมน้ำเท่านั้น บางสถานการณ์ก็อันตรายเช่น “พายุ”

“ช่วงพายุเข้า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องระวัง เราต้องพาเด็กให้อยู่ในห้อง และเราต้องคอยเดินมาดูเรือ ตัวอาคาร คำนวณความอันตราย ว่าพายุแรงขนาดไหน เราต้องทำอย่างไร เพราะถ้าลมแรงมากๆ เรือโรงเรียนที่เราผูกไว้อาจจะล่มได้ เราต้องคอยดูแลทุกอย่าง

หลายครั้งเจอลมแรงๆต้องมานั่งจับเรือไว้ เปียกฝน คอยดูแลทุกอย่าง ต้องให้เด็กอยู่แต่ในห้อง เพราะเด็กเจอลม เจอฝนอาจจะเป็นเรื่องสนุกของเขา ไม่ได้คิดถึงเรื่องอันตราย แต่เราคิดว่าถ้าเป็นอะไรไป คนที่รับผิดชอบคือตัวเรา”



สัมภาษณ์โดย : รายการฅนจริงใจไม่ท้อ
เรียบเรียง : MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น