xs
xsm
sm
md
lg

ครูผู้ยิ่งใหญ่ “บุปผาชาติ” เร่ขายห่อหมก หาเงินให้เด็กเรียนฟรี-กินฟรี-อยู่ฟรี! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กว่า 73 ปี ที่ โรงเรียนวิชาวดี โรงเรียนเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ให้เด็กเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี ไม่เสียตังค์สักสลึง! แม่พิมพ์ของชาติผู้ยิ่งใหญ่ตัวอย่างของแผ่นดิน ที่พึ่งพาของเด็กยากจนเด็กด้อยโอกาส ตั้งปณิธาน จะทำเพื่อเด็กๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจ!

สละความสุขส่วนตัว เพื่อเด็กยากไร้

"ครูมาเป็นครูที่นี่ตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2511 ขณะนั้นเงินเดือนแค่ 150 บาท แต่ตอนนั้นข้าวสารราคาเพียง 20 บาท เราก็พออยู่ได้"

บุปผาชาติ หมุนสา ครูใหญ่แห่งโรงเรียนวิชาวดี ต.ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ย้อนอดีตเมื่อ 51 ปีก่อน กับบทบาทครูในยุคเริ่มแรกที่โรงเรียนวิชาวดี ในยุคที่คุณเปรมวดี จำปาสุต เจ้าของโรงเรียนเป็นครูใหญ่

เปรมวดี จำปาสุต , สมาน จำปาสุต ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวิชาวดี
"สมัยก่อนคุณตาคุณยายเปรมวดีมีบ้านเรือนไทยเรือนไม้หลังๆ แต่ลูกหลานท่านไปอยู่ที่อื่น ไปมีการศึกษา เพราะท่านมีฐานะดี ก็ไม่มีใครอยู่ ท่านก็เปิดเป็นโรงเรียน"

หลังคุณยายเปรมวดีเสียชีวิต คุณตาสมาน สามีได้ทำหน้าที่ครูใหญ่ต่อ กระทั่งวัยร่วงโรย ครูบุปผาชาติ จึงได้รับความไว้วางใจให้ดูแลโรงเรียนแห่งนี้ต่อ

73 ปีที่โรงเรียนวิชาวดีให้การศึกษา และทักษะอาชีพแก่เด็กๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่า ปัจจุบันมีนักเรียนในความดูแล 65 คน ซึ่งมีทั้งเด็กไทยและต่างด้าว

"โรงเรียนแห่งนี้เปิดให้เรียนถึง ป.6 มีผู้ปกครองอยากให้เปิดถึง ม.3 แต่เราไม่มีกำลัง เงินน้อย เมื่อก่อนนี้ที่โรงเรียนอยู่ได้เพราะรัฐอุดหนุนเงินเดือนครู แต่จากนั้นเปลี่ยนเป็นอุดหนุนรายหัวนักเรียน ฉะนั้นโรงเรียนเราเด็กต่ำกว่าเกณฑ์ก็มี แต่เราไม่มีเปิดอนุบาล รวมถึงเด็กต่างด้าวซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบที่รัฐอุดหนุน

ส่วนเหตุผลที่ต้องรับเลี้ยงเด็กเพราะเข้าใจ ว่า หากผู้ปกครองท่านใดไม่ได้ไปทำงาน เพราะต้องเลี้ยงลูกหลาน ก็จะทำให้ไม่มีรายได้เข้าบ้าน ความเป็นอยู่ก็จะลำบาก ดังนั้น จะรับเลี้ยงเด็กให้ฟรี เพื่อให้ผู้ปกครองไปทำงาน จะได้มีเงินมาใช้จ่ายในบ้าน และให้โอกาสแก่ทุกคนเท่ากัน ไม่เคยแบ่งแยก

โรงเรียนวิชาวดีหลังเก่า
เพราะนักเรียนส่วนมากครอบครัวยากจน อยู่กับปู่ย่า ตายาย หรือญาติ บางครั้งก็ไม่มีบัตรประชาชน เรียนที่ไหนก็ไม่ได้ แต่โรงเรียนวิชาวดีเปิดรับเสมอ

ปัจจุบันนี้โรงเรียนวิชาวดี มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 65 คน อยู่ในระบบแค่ 44 คน อีก 20 กว่าคนเป็นภาระที่เราจะต้องดูแลเขา

สาเหตุที่ทำให้ต้องเลี้ยงข้าวกลางวันเด็ก เพราะเจอเหตุการณ์สะเทือนใจที่เด็กคนหนึ่งขโมยข้าวกลางวันไปเพียง 1 จานเพื่อนำไปให้แม่ที่ป่วยหนัก!

"ครูครับ เมื่อคืนแม่ผมไม่สบาย ตัวร้อน จะต้มข้าวให้แม่กฺินก็ไม่มี วันนี้หนูกินข้าวแล้ว แต่ว่าแม่ยังไม่ได้กิน หนูจะเอาข้าวจานนี้ไปให้แม่หนูกิน ตั้งแต่นั้นมาความรู้สึกของเราก็ รู้สึกว่า แม้เราจะจน ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่จนกว่า”

หลังจากเหตุการณ์นี้ครูใหญ่จึงตั้งปณิธานไว้ว่า ไม่ว่าจะขาดแคลนงบเพียงใด ก็จะต้องเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆให้ได้

เร่ขายห่อหมก ประทังชีวิตเด็กนักเรียน




ไม่เพียงอุทิศตนให้ความรู้-ความรักแก่เด็กๆ ดั่งลูกหลาน แต่ครูยังสละเวลาและความสุขส่วนตน ทำทุกวิถีทางเพื่อให้โรงเรียนและเด็กๆ อยู่ได้ ถึงขั้นทำ "ห่อหมก" ไปเร่ขาย เพื่อมีรายได้มาจุนเจือเด็กและโรงเรียน

ครูบุปผาชาติ เริ่มทำห่อหมกขายตั้งแต่ปี 2543 ทำห่อหมกวันละ 150 กระทง กระทงละ 10 บาท วันธรรมดาเดินเร่ขายตามสถานีรถไฟ และวันเสาร์อาทิตย์ไปขายในตลาดปากน้ำโพ ทำให้พอมีรายได้เลี้ยงเด็กๆ ให้อิ่มท้อง จะนำห่อหมกที่ทำเสร็จไว้แล้วตั้งแต่ตอนพักเที่ยง ไปขายที่สถานีรถไฟปากน้ำโพ โดยมีคุณลุงคุณป้าคุณยายที่ว่างจากงานมาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำทุกขั้นตอน บางวันยังมีเด็กนักเรียนที่ว่างจากการเรียนมาช่วยทำ ถือว่าเป็นการฝึกให้มีความขยันหมั่นเพียร และเรียนรู้ว่ากว่าจะหาเงินได้แต่ละบาทนั้นเหนื่อยแค่ไหน

สิ่งนี้เป็นการมอบวิชาชีวิตที่ไม่มีสอนในโรงเรียน เพราะหวังว่า เมื่อเด็กๆ เรียนจบออกไปแล้วจะเป็นคนดีของสังคม ทว่า ปัจจุบันนี้ขายเฉพาะวันจันทร์ พุธ ศุกร์




เพื่อเลี้ยงดูจุนเจือนักเรียนโรงเรียนวิชาวดี 65 คน มีเด็กที่อยู่ระดับ ป.1-6 ที่พ่อแม่เอามาฝากให้ครูใหญ่ดูแล ค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงเกิดขึ้น จึงทำให้ครูบุปผาชาติต้องทำห่อหมกขาย เพื่อนำรายได้มาสมทบค่าอาหารกลางวันให้เด็กๆ เนื่องจากพอมีฝีมือการทำอาหารอยู่บ้าง

ครูใหญ่ก็ทำห่อหมก เพื่อเก็บเงินไว้ซื้อกับข้าวและข้าวสารไว้หุงให้นักเรียนได้กินกัน เพื่อสอนการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สอนให้ทำงาน สอนการเกษตร สอนงานที่จะสามารถทำให้เด็กขยันช่วยตัวเองและครอบครัวได้ บางทีครูใหญ่ก็ออกมาเดินขอขนม ขอข้าวสารให้เด็กกินกลางวันบ้าง ถ้าเป็นวันปีใหม่ หรือ วันเด็กก็ออกมาขอของเล่น

ส่วนได้กำไรจากการขายห่อหมกประมาณ 500-600 บาท ก็เอาเงินเหล่านี้ไปซื้อข้าวและอาหารมาทำให้เด็กกินในวันรุ่งขึ้น

“โชคดีข้าวสารหลวงพ่อให้มา แต่กับข้าวเราก็ต้องหาเอง”

รักสุดใจ! ลูกศิษย์คือลูกหลาน สอนวิชาชีวิต


"ครูใหญ่รักทุกคนเหมือนลูกเหมือนหลาน คือเด็กต้องมาก่อนเสมอ เมื่อก่อนจะตะกร้าที่ครูเดินถือ คือในตะกร้าจะต้องมีของกินเพื่อจะเอามาให้เด็กที่ห้องได้กิน" ครูโรงเรียนวิชาวดี อดีตศิษย์เก่าเล่าย้อนความหลัง

ครูบุปผาชาติ ไม่ใช่แค่อุทิศตัวอบรมสั่งสอนเด็กในโรงเรียนเพื่อให้มีทักษะอาชีพติดตัวแต่ครูใหญ่เป็นมากว่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ครูไปเจอเด็กข้างถนน ครูจะไม่ปล่อยให้เด็กเหล่านั้นต้องเผชิญปัญหาตามยถากรรม

"ครูไปเห็นเด็กที่อยู่กลางถนน ครูก็บอกว่า เอาไปเรียนหนังสือเถอะ ถ้าไม่มีใคร เอาไปอยู่กับครูก็ได้ จะเลี้ยงให้เอง ดีกว่าไปอยู่ข้างถนนรถทับตาย

"เรามีอาชีพครู จะทำอย่างไรให้เขามีความรู้เพื่อไปประกอบอาชีพได้ในภายภาคหน้า หนีจากสังคมที่ไม่สู้จะดี ให้เขาอ่านออกเขียนได้แค่นั้น ให้เขาทำมาหากินได้ ไม่เป็นปัญหาสังคม อยากให้เขาได้เรียนรู้ ช่วยเหลือตนเองได้ ใช้วิชาชีวิต


ครูก็จะสอนทำน้ำยาล้างจาน เย็บปักถักร้อย ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ขายของเพื่อเป็นแบบอย่างว่า เพื่อเป็นแรงใจ ว่าครูเขาเหนื่อยนะ แต่ก็ทำเพื่อพวกเรา เขาจะได้เลียนแบบได้"

ครูไม่เคยเก็บค่าอะไรสักสลึงเดียว เด็กอยู่ที่นี่ ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ฟรีหมด แม้แต่จะกินจะนอน เสื้อผ้าก็มีผู้บริจาคให้ เมื่อผู้ใจบุญมาก็จะถามว่าคุณครูอยากได้อะไร นักเรียนครูนะคะ เข้าห้องน้ำยังไม่เป็นเลย ก่อนอื่น ครูบอก ขอห้องน้ำก่อน อยากให้มีห้องน้ำได้เข้า แรก ๆเขาเข้าไม่เป็น อาคารเรียนก็เปลี่ยนไป เพราะผู้บริจาคให้ทั้งนั้น"

ครูใหญ่ผู้ไม่เคยทิ้งเด็ก ท้อแต่สู้


ย้อนไปถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนสถานีรถไฟปากน้ำโพ ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง หลังน้ำจากแม่น้ำน่านล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำจำนวนมาก ชาวบ้านต่างได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะที่โรงเรียนวิชาวดี ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถม ถูกน้ำไหลเข้าท่วมทั้งโรงเรียนจนต้องมีการประกาศปิดอย่างไม่มีกำหนด

ครูบุปผาชาติผู้เป็นหัวเรือใหญ่ได้นำพาชีวิตเด็กทั้งโรงเรียนพ้นวิกฤตมาได้

โดยน้ำได้เข้าทะลักท่วมทั่วบริเวณ ตั้งแต่โรงอาหาร ลานหน้าเสาธง ไปจนถึงอาคารเรียน มีระดับน้ำสูงเฉลี่ย 40-60 เซนติเมตร และยังมีนักเรียนประจำ อีก 3 คน พักอาศัยกินนอนอยู่ภายในอาคารเรียนชั้น 1 รวมกับผู้อำนวยการโรงเรียน และภารโรงอีก 3 ชีวิต ส่วนบนอาคารเรียนชั้น 2 มีห้องเรียนหนึ่ง ถูกใช้ให้เป็นสถานที่เลี้ยงไก่ไข่ของทางโรงเรียนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากพื้นที่เดิมที่เคยเลี้ยงถูกน้ำท่วมหมด

ครูบุปผาชาติ เล่าว่า น้ำจากแม่น้ำน่านเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้ามาในโรงเรียนบางส่วน จนปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น ตนเกรงว่าอาจจะมีเด็กนักเรียนได้รับอันตรายจากการจมน้ำ จึงได้มีการประกาศปิดภาคเรียนก่อนกำหนดทันที ส่วนสิ่งของที่เสียหายจากการจมน้ำ ก็มีบ้างบางส่วนที่ขนหนีน้ำกันไม่ทัน โดยเฉพาะข้าวสารกระสอบใหญ่ที่เอาไว้หุงเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กหลายกระสอบ ต้องจมน้ำอยู่ในโรงอาหาร เพราะยกกันไม่ไหว

ขนได้แต่สิ่งของที่สำคัญรวมถึงไก่ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำมาเลี้ยงไว้ เพื่อนำไข่มาทำอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน กว่า 80 ตัว โดยให้เด็กนักเรียนที่อยู่ประจำ และภารโรง ช่วยกันขนย้ายพาไปอยู่ที่ห้องเรียนบนชั้น 2 เป็นการชั่วคราว เพราะเกรงที่เลี้ยงเดิมถูกน้ำท่วม

ภูมิใจ ลูกศิษย์กลับมาตอบแทน


ความภาคภูมิใจของครูบุปผาชาติคือผลผลิตศิษย์เก่าที่ได้อบรมเลี้ยงดูได้กลับมาตอบแทน ช่วยเหลือ สั่งสอนมาคือ สังคมยอมรับว่า เราดูแลเด็กได้ดี เด็กอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่อึดอัด เราเหมือนพ่อแม่ ครูที่นี่ก็เป็นเด็กที่เคยเรียนที่นี่ เขาก็สงสารเรา เห็นเราเหนื่อย อยากช่วย มีเด็กที่ไปล้างจานอยู่เมืองนอก ได้ดูข่าวครู เขาก็บอกอยากมาหาครูจัง คิดถึง ผมจะโอนเงินไปให้คุณครู เขาก็โอนมาให้ 3,000 บาท เราก็ดีใจ

ส่วนแรงบันดาลที่ทำให้ครูบุปผาชาติมาเป็นครูผู้เสียสละ แม่พิมพ์ของชาติที่น้ำใจสุดยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ ครูบุปผาชาติได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ โดยเฉพาะวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี จะตั้งใจฟังว่า พระองค์ตรัสสอนเรื่องอะไรบ้าง ดังเช่นที่ทรงกล่าวไว้ว่า ใครมีอาชีพอะไรก็ขอให้ทำตามหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และรู้คุณค่าของชีวิต การทำดีก็ไม่ต้องตะโกนบอก แต่คนอื่นจะเห็นเองว่าเราทำดี และพูดชื่นชมว่าเราทำดี

ครูรักประเทศชาติ รักประเทศไทย ครูอาศัยแผ่นดินไทยอยู่ ครูไม่เคยมีที่ดินสักนิดหนึ่ง แต่ครูได้อาศัยอยู่ตรงนี้ ครูก็อยากจะให้แผ่นดินไทยของเรา มีเด็กที่มีความรู้ ความสามารถ อยู่ได้โดยไม่พึ่งพายาเสพติด ให้เขาอ่านออก เขียนได้ ไม่เป็นปัญหาสังคม

ครูจะพูดเสมอว่า ที่ทำทุกวันนี้ก็เพื่อช่วยเหลือสังคม คุณครูทุกท่านเต็มใจ และให้ช่วยกันดูแล ทุกๆคนรู้ว่าเรามีความตั้งใจยังไง คุณครูก็รู้ เด็กๆก็รู้ ว่าคุณครูตั้งใจที่่จะให้ จะทำจนกว่าที่เราจะลุกไม่ขึ้น ครูตั้งใจจะทำอะไรที่ช่วยเหลือสังคมได้ให้ดีที่สุด จนกว่าเราจะหมดลมหายใจ เพราะว่าเราไม่มีอะไรจะตอบแทนแผ่นดิน นอกจากการให้ความรู้ ที่อยู่อาศัย และเป็นแบบอย่างที่เขาพอจะทำตามเราได้

กว่าครึ่งศตวรรษครูบุปผาชาติ ไม่ได้ขออะไรให้ตัวเอง เสียสละเวลาส่วนตัว ความสุขครอบครัว ไม่แม้แต่จะขอขึ้นเงินเดือน เลื่อนขั้น หรือย้ายไปสอนที่อื่น มีแต่ทำทุกอย่างให้เด็กนักเรียนตลอดช่วงชีวิต





สัมภาษณ์ : รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : สวิชญา ชมพูพัชร



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

กำลังโหลดความคิดเห็น